พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 02 กรกฎาคม 2557 - 08 กรกฎาคม 2557

ข่าวทั่วไป Thursday July 3, 2014 08:48 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 02 กรกฎาคม 2557 - 08 กรกฎาคม 2557

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 3-5 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 6-8 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนบนและด้านตะวันตกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • บริเวณทางตอนบนและด้านตะวันตกของภาคที่มีฝนตก สภาพอากาศ มีความชื้นสูง เกษตรกรที่ปลูกไม้ดอก และพืชผัก ควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา หากพบต้นที่เป็นโรคควรรีบกำจัดก่อนจะแพร่ไปสู่ต้นอื่นๆ
  • สำหรับไม้ผล เช่น ลำไย ที่กำลังให้ผลผลิตและเติบโตทางผล ชาวสวนควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน ป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราสีชมพู หากพบผลที่เน่าเสีย หรือมีสัตว์กัดกิน ควรปลิดผลทำลาย เพื่อมิให้เชื้อโรคแพร่ไปยังช่ออื่น ๆ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 3-5 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนและด้านตะวันออกของภาคส่วนในช่วงวันที่ 6-8 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่และมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนล่างและด้านตะวันออกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • บริเวณที่มีฝนตกชุก โดยเฉพาะทางตอนล่างและด้านตะวันออกของภาค สภาพอากาศมีความชื้นสูง ชาวนาไม่ควรหว่านกล้าแน่นจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดโรคพืชจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคไหม้ รวมทั้งระวังศัตรูพืชจำพวกหนอนที่มาทำลายต้นข้าว
  • สำหรับช่วงที่ผ่านมาบริเวณภาคตะวันอกเฉียงเหนือด้านตะวันออกมีฝนตกชุก เกษตรกรควรดูแสัตว์เลี้ยงไม่ปล่อยให้อยู่ในที่ชื้นแฉะ เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • ในช่วงวันที่ 6-8 ก.ค. จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาใว้ใช้ทางด้านการเกษตร ในช่วงที่มีฝนตกน้อยในระยะต่อไปด้วย

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 3-4 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ส่วนในช่วงวันที่ 5-8 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งทางด้านตะวันตกและตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส

  • ในวันที่ 5-8 ก.ค.จะมีฝนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะทางด้านตะวันตกและตอนล่างของภาค สภาพอากาศชุ่มชื้น เกษตรกรที่ปลูกพืชไร่และพืชผักในระยะนี้ควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้พืชเสียหาย ผลผลิตลดลง
  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก พื้นคอกไม่ชื้นแฉะและซ่อมแซมหลังคาไม่ให้รั่วซึม ป้องกันสัตว์เปียกชื้นอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 3-4 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 5-8 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส

  • ในช่วงวันที่ 5-8 ก.ค. จะมีฝนตกชุกและมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัย และที่ลุ่มใกล้ทางน้ำไหลผ่านควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายเนื่องจากสภาวะฝนตกหนัก
  • สำหรับสวนผลไม้ที่อยู่ในที่ลุ่ม ชาวสวนควรระวังอย่าให้น้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืชนาน เพราะจะทำให้รากพืชเน่าต้นพืชตายได้ รวมทั้งระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้พืชเสียหาย และชะงักการเจริญเติบโต
  • อนึ่ง ในช่วงวันที่ 5-8 ก.ค. บริเวณอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 3-5 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 6-8 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนบนของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. อ่าวไทยตอนบน ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตรส่วนอ่าวไทยตอนล่าง ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส

  • ในช่วงนี้ภาคใต้ฝั่งตะวันตกยังคงมีฝนตกชุก และมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัยและที่ลุ่มใกล้ทางน้ำไหลผ่าน ควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะฝนตกหนัก
  • สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอนซึ่งจะกัดกินทำให้ผลผลิตเสียหายได้ โดยหมั่นสำรวจสวน หากพบควรรีบกำจัด
  • ส่วนชาวสวนยางพาราควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวนป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งมักระบาดในช่วงฝนชุก
  • อนึ่ง ในช่วงวันที่ 5–8 ก.ค. บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงเวลาดังกล่าว

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ในช่วงวันที่ 3-4 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตรส่วนในช่วงวันที่ 5-8 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส

  • ในช่วงนี้ภาคใต้ฝั่งตะวันตกยังคงมีฝนตกชุก และมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัยและที่ลุ่มใกล้ทางน้ำไหลผ่าน ควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะฝนตกหนัก
  • สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอนซึ่งจะกัดกินทำให้ผลผลิตเสียหายได้ โดยหมั่นสำรวจสวน หากพบควรรีบกำจัด
  • ส่วนชาวสวนยางพาราควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวนป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งมักระบาดในช่วงฝนชุก
  • อนึ่ง ในช่วงวันที่ 5–8 ก.ค. บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงเวลาดังกล่าว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ