พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 04 กรกฎาคม 2557 - 10 กรกฎาคม 2557

ข่าวทั่วไป Monday July 7, 2014 08:53 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 04 กรกฎาคม 2557 - 10 กรกฎาคม 2557

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 4-6 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 7-10 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • สำหรับบริเวณที่มีฝนตก เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนตกน้อย
  • ระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ ตลอดจนข้าวนาปีที่อยู่ในระยะกล้า ซึ่งหนอนจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ยอดและใบอ่อนเสียหาย ผลผลิตด้อยคุณภาพ หากพบควรรีบกำจัด เพื่อไม่ให้แพร่ไปยังต้นอื่นๆ
  • ส่วนไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตและที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกร ควรตัดแต่งกิ่ง ให้ทรงพุ่มโปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก โดยเฉพาะ กิ่งน้ำค้าง กิ่งที่มีโรคและแมลงเข้าทำลาย และควรทาแผลรอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา แล้วนำกิ่งที่ถูกตัดออกไปกำจัดให้ถูกวิธีโดยเผาหรือผังให้ลึก ไม่ควรปล่อยไว้ในสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 4-6 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนและด้านตะวันออกของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 7-10 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • ในช่วงที่มีฝนตก เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตร ในช่วงที่มีฝนตกน้อย
  • สำหรับพืชไร่ พืชผัก และข้าวนาปีที่อยู่ในระยะกล้า เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่น หนอนกระทู้ ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชเสียหาย ส่งผลให้ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ เนื่องจากในช่วงฤดูฝนแมลงและศัตรูสัตว์จะเจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูสัตว์มารบกวนสัตว์เลี้ยง ซึ่งศัตรูสัตว์บางชนิดนอกจากจะรบกวนและสร้างความรำคาญแล้วอาจนำโรคมาสู่สัตว์เลี้ยงได้

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 4-7 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 8-10 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

  • ในช่วงฤดูฝนวัชพืชจะเจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรจึงควรกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกพืชให้โล่งเตียน เพื่อไม่ให้แย่งน้ำและอาหารของต้นพืช ตลอดจนไม่ให้เป็นที่อาศัยหลบซ่อนของโรคและศัตรูพืช
  • สำหรับพืชสวน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ยอดอ่อนและใบอ่อนเสียหาย ต้นพืชทรุดโทรม ดังนั้นหากพบการระบาดของศัตรูพืชดังกล่าวควรรีบกำจัด เพื่อไม่ให้ระบาดไปสู่ต้นอื่นๆ
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก พื้นคอกไม่ชื้นแฉะ หลังคาไม่รั่วซึม ป้องกันสัตว์เปียกชื้นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 4-6 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนบริเวณฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 7-10 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส

  • สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะผลแก่และเก็บเกี่ยว เช่น เงาะ ทุเรียน และลองกอง เกษตรกรควรกำจัดผลที่เน่าเสีย และร่วงหล่น ตลอดจนเปลือกผลไม้ต่างๆให้ถูกวิธี โดยเผาหรือผังให้ลึก ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ในสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งอาจจะติดต่อจากเปลือกและผลที่เน่าไปสู่ต้นพืชได้
  • อนึ่ง ในช่วงวันที่ 7-10 ก.ค. บริเวณอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นลมแรง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรระวังความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 4-6 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 7-10 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนบนของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. อ่าวไทยตอนบน ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่าง ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-37 องศาเซลเซียส

-ในช่วงที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรง ภาคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับลมมรสุมจะมีปริมาณและการกระจายของฝนมากกว่าทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก ซึ่งบางพื้นที่อาจมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว

  • สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล เกษตรกรควรเก็บกวาดผลที่ร่วงหล่นเน่าเสีย หรือผลที่ศัตรูพืชเข้าทำลายไปกำจัด ไม่ควรปล่อยไว้ในสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งอาจติดต่อจากผลที่เน่าเสียไปสู่ต้นพืชได้
  • อนึ่ง ในช่วงวันที่ 7-10 ก.ค. บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นลมแรง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรระวังและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงเวลาดังกล่าว

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ในช่วงวันที่ 4-6 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 7-10 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส

-ในช่วงที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรง ภาคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับลมมรสุมจะมีปริมาณและการกระจายของฝนมากกว่าทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก ซึ่งบางพื้นที่อาจมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว

  • ส่วนผู้ที่ปลูกพืชสวน โดยเฉพาะทางภาคใต้ฝั่งตะวันตก ควรดูแลสวนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก และกำจัดวัชพืชในสวนให้โล่งเตียน เพื่อลดความชื้นในแปลงปลูก ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา
  • อนึ่ง ในช่วงวันที่ 7-10 ก.ค. บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นลมแรง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรระวังและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงเวลาดังกล่าว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ