พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 14 กรกฎาคม 2557 - 20 กรกฎาคม 2557

ข่าวทั่วไป Tuesday July 15, 2014 08:43 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 14 กรกฎาคม 2557 - 20 กรกฎาคม 2557

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 15-17 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 18-20 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากบริเวณทางตอนบนและด้านตะวันออกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • สัปดาห์นี้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง สภาพอากาศ มีความชื้นสูง เกษตรกรที่ปลูกพืชไร่และพืชตระกูลถั่วในระยะนี้ควรป้องกันการระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบจุด โรคราสนิม และโรคเน่าคอดิน รวมทั้งป้องกันระบาด ของศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่น หนอนกออ้อย หนอนกระทู้ และหนอนชอนใบ เป็นต้น
  • ส่วนลำใยที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล ชาวสวนควรหมั่นสำรวจหากพบผลที่เน่าเสีย หรือแมลงเข้าทำลาย ควรปลิดออกและนำไปกำจัดเพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ไปยังผลอื่นๆ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 15-17 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 18-20 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมแปรปรวน ความเร็ว 15-35 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส

  • สัปดาห์นี้ยังคงมีฝนตกชุก สภาพอากาศ มีความชื้นสูง สวนยางพาราบริเวณตอนบนของภาค ชาวสวนควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา และไม่ควรกรีดยางขณะที่ต้นยางเปียกอยู่ เพราะอาจเกิดโรคเส้นดำ รวมทั้งทาหน้ากรีดยางด้วยสารป้องกันเชื้อรา
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ ควรดูแลโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ให้อับชื้น และอย่าให้ฝนสาดเข้าไปได้ จะทำให้สัตว์อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะ เพื่อป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 15-17 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 18-20 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก พื้นคอกไม่ชื้นแฉะ ป้องกันสัตว์อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ
  • ส่วนผู้ที่ปลูกพืชไร่ และพืชผักในระยะนี้ควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นชงักการเจริญเติบโตผลผลิตลดลง รวมทั้งหมั่นสำรวจแปลงปลูกหากพบควรรีบกำจัดเพื่อไม่ให้ระบาดเป็นบริเวณกว้าง

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 15-17 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 18-20 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส

  • สัปดาห์นี้ยังคงมีฝนตกชุก และมีฝนตกหนักบางแห่ง สวนผลไม้ เช่น เงาะ ทุเรียน มังคุด และลองกอง ที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว ชาวสวนควรตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวกเพื่อป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา รวมทั้งหมั่นสำรวจภายในสวน อย่าปล่อยให้มีน้ำท่วมขังบริเวณโคนต้น และรากพืชเป็นเวลานานจะทำให้ต้นพืชยืนตายได้
  • ในช่วงวันที่ 18-20 ก.ค. บริเวณอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นลมแรง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรระวังความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 15-17 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ในช่วงวันที่ 18-20 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนบนของภาค ตั้งแต่จังหวัดสุราษฏร์ธานีขึ้นมา: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งทะเลคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส

  • สัปดาห์นี้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกชุก สภาพอากาศ มีความชื้นสูงไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกิน ทำให้ผลผลิตเสียหาย รวมทั้งเก็บกวาดผลที่ร่วงหล่นเน่าเสีย หรือผลที่ศัตรูพืชเข้าทำลายไปกำจัด ไม่ควรปล่อยไว้ในสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งอาจติดต่อจากผลที่เน่าเสียไปสู่ต้นพืชได้
  • ส่วนชาวสวนยางพาราควรดูแลสวนให้โล่งเตียน อากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคราสีชมพู และโรคหน้ากรีดยางเป็นต้น
  • อนึ่ง ในช่วงวันที่ 18-20 ก.ค. บริเวณอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นลมแรง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรระวังและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ในช่วงวันที่ 14-16 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ในช่วงวันที่ 17-20 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ตั้งแต่จังหวัดกระบี่ลงไป ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส

  • สัปดาห์นี้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกชุก สภาพอากาศ มีความชื้นสูงไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกิน ทำให้ผลผลิตเสียหาย รวมทั้งเก็บกวาดผลที่ร่วงหล่นเน่าเสีย หรือผลที่ศัตรูพืชเข้าทำลายไปกำจัด ไม่ควรปล่อยไว้ในสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งอาจติดต่อจากผลที่เน่าเสียไปสู่ต้นพืชได้
  • ส่วนชาวสวนยางพาราควรดูแลสวนให้โล่งเตียน อากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคราสีชมพู และโรคหน้ากรีดยางเป็นต้น
  • อนึ่ง ในช่วงวันที่ 18-20 ก.ค. บริเวณทะเลอันดามันจะมีคลื่นลมแรง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรระวังและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่ง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ