พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 06 สิงหาคม 2557 - 12 สิงหาคม 2557

ข่าวทั่วไป Thursday August 7, 2014 08:44 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 06 สิงหาคม 2557 - 12 สิงหาคม 2557

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 6-8 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน และตาก ส่วนในช่วงวันที่ 9-12 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส

  • สำหรับบริเวณที่มีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
  • ส่วนบริเวณที่มีฝนตก อาจมีน้ำขัง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำที่สกปรกหากมีความจำเป็นต้องลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูตทุกครั้งเพื่อป้องกันโรคฉี่หนู
  • ในช่วงที่มีฝนตกชุก เกษตรกรที่ปลูกไม้ผล เช่น ลิ้นจี่ มะม่วง และส้ม ควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรคแอนแทรกโนส และโรครากเน่าโคนเน่า เป็นต้นซึ่งมักระบาดในช่วงที่มีความชื้นสูง โดยเกษตรกรควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก รวมทั้งบริเวณโคนต้นพืชอย่าให้มีวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่นไบไม้ กิ่งไม้ หรือหญ้าแห้ง เพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยหลบซ่อนของโรคและศัตรูพืช

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 6-8 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดบึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ส่วนในช่วงวันที่ 9-12 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส

  • สำหรับบริเวณที่มีฝนตกหนัก เกษตรกรควรติดตามเฝ้าระวังสภาวะดังกล่าว ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินและพื้นที่การเกษตรได้
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบ เช่น โคและกระบือ เป็นต้น
  • ในช่วงที่มีฝนตก เกษตรกรควรระวังและป้องกันหอยเชอรี่ที่ลอยมากับน้ำ โดยใช้ตาข่ายดักบริเวณทางน้ำไหลเข้านาแล้วจับหอยไปทำลาย เพื่อป้องกันหอยเข้ามาแพร่พันธุ์ในแปลงนาในระยะที่ต้นข้าวเจริญเติบโต ซึ่งจะกัดกินต้นข้าวทำให้ต้นเสียหาย ผลผลิตลดลง

ภาคกลาง

มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส

  • ในช่วงฤดูฝนแมลงต่างๆและศัตรูสัตว์จะเจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูสัตว์มารบกวนสัตว์เลี้ยง ซึ่งนอกจากจะทำให้สัตว์ชะงักการเจริญเติบแล้วบางชนิดอาจนำโรคมาสู่สัตว์เลี้ยงได้
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกลงบนดินไหลลงบ่อเลี้ยง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนแปลงสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย นอกจากนี้อาจติดดวงไฟเหนือบ่อเลี้ยง เพื่อล่อให้แมลงตัวเต็มวัยมาเล่นแสงไฟแล้วตกลงในบ่อเป็นอาหารสัตว์น้ำได้ รวมทั้งเตรียมวัสดุอุปกรณ์สำหรับกั้นขอบบ่อ และสูบน้ำเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 6-8 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากบริเวณจังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด ส่วนในช่วงวันที่ 9-12 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเล มีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส

  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำในพื้นที่เพาะปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในแปลงปลูกเมื่อมีฝนตกหนัก
  • ส่วนชาวสวนทุเรียนควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรคใบติด โรคราสีชมพู และโรครากเน่าโคนเน่า ซึ่งโรคดังกล่าวมักเกิดในช่วงที่มีฝนตกชุก ความชื้นในดินและในอากาศสูง
  • ในช่วงที่มีฝนตกผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกลงบนดินไหลลงบ่อเลี้ยง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนแปลงสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรค ได้ง่าย

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ส่วนมากทางตอนบนของภาค ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนักติดต่อกัน เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าวโดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งเคยมีน้ำท่วมมาก่อน
  • สำหรับบริเวณที่มีฝนตกชุกผู้ที่ปลูกพืชสวน เช่น ยางพารา กาแฟ และปาล์มน้ำมัน ควรระวังและป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง โดยดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน
  • ส่วนไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรควรรีบตัดแต่งกิ่งและขั้วผล แล้วทาแผลรอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา รวมทั้งใส่ปุ๋ยเพื่อให้ต้นฟื้นตัวได้เร็ว มีเวลาพักตัวนานขึ้น
  • อนึ่ง ในช่วงวันที่ 6-8 ส.ค.บริเวณทะเลอันดามันตอนบนจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ในช่วงวันที่ 6-7 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบนของภาคตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมา ส่วนในช่วงวันที่ 8-12 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูง 2-3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนักติดต่อกัน เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าวโดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งเคยมีน้ำท่วมมาก่อน
  • สำหรับบริเวณที่มีฝนตกชุกผู้ที่ปลูกพืชสวน เช่น ยางพารา กาแฟ และปาล์มน้ำมัน ควรระวังและป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง โดยดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน
  • อนึ่ง ในช่วงวันที่ 6-8 ส.ค.บริเวณทะเลอันดามันตอนบนจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ