พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 29 สิงหาคม 2557 - 04 กันยายน 2557

ข่าวทั่วไป Monday September 1, 2014 08:58 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 29 สิงหาคม 2557 - 04 กันยายน 2557

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 29-30 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 31 ส.ค.-4 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินโดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งเคยมีน้ำท่วมมาก่อน
  • ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ความชื้นในดินและอากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนส้มควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากความชื้นสูง เช่นโรคแคงเกอร์ โรครากเน่าโคนเน่า และโรคแอนแทรกโนส เป็นต้น
  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่อับชื้น พื้นคอกไม่ชื้นแฉะ หลังคาไม่รั่วซึม เพื่อป้องกันสัตว์เปียกชื้น อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 29-30 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 31 ส.ค. - 4 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • บริเวณที่มีฝนตกหนัก เกษตรกรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะ เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบ เช่นโคและกระบือ เป็นต้น
  • ส่วนในช่วงที่มีฝนตกอาจทำให้มีน้ำท่วมขัง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำที่สกปรกหากมีความจำเป็นต้องลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูตทุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคฉี่หนู

ภาคกลาง

มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 1- 4 ก.ย. อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรยกพื้นคอกสัตว์ให้สูง ดูแลโรงเรือนอย่าให้อับชื้น หลังคาไม่รั่วซึม เพื่อป้องกันสัตว์เปียกชื้นจนอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย และหากพบสัตว์ป่วยควรแยกออกจากกลุ่มแล้วรีบรักษาเพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ไปยังตัวอื่น รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่วยโดยตรงหากมีความจำเป็นควรสวมถุงมือยางทุกครั้ง

ภาคตะวันออก

มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 1- 4 ก.ย. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส

  • สำหรับสวนผลไม้ที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกอย่าให้น้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืชนาน เพราะจะ ทำให้รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้
  • ในช่วงที่มีฝนตกทำให้ดินมีความชื้นสูงผู้ที่ปลูกพริกไทยควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรครากเน่า โรครากขาว โรคราเห็ด และโรคแอนแทรกโนส เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นตายได้โดยจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีการระบายน้ำที่ดีอย่าให้น้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูก และหากพบโรคดังกล่าวควรรีบกำจัด

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนักติดต่อกัน เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งเคยมีน้ำท่วมมาก่อน
  • สำหรับไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรควรรีบตัดแต่งกิ่งและทาแผลรอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา และใส่ปุ๋ยเพื่อให้ต้นฟื้นตัวได้เร็วมีเวลาพักตัวได้นานขึ้น รวมทั้งไม่กองสุมวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ กิ่งไม้ ตลอดจนผลที่ร่วงหล่น และเน่าเสีย ไว้ในสวน แต่ควรนำไปกำจัด เพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยหลบซ่อนของโรคและศัตรูพืช
  • ส่วนผู้ที่ปลูกพืชสวน เช่น ยางพารา กาแฟ และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น ควรดูแลบริเวณสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในแปลงปลูกป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งมักระบาดในช่วงที่ฝนตกชุก ดินและอากาศมีความชื้นสูง
  • ผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยง ไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อเลี้ยงเพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนแปลง สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนักติดต่อกัน เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งเคยมีน้ำท่วมมาก่อน
  • ส่วนผู้ที่ปลูกพืชสวน เช่น ยางพารา กาแฟ และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น ควรดูแลบริเวณสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในแปลงปลูกป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งมักระบาดในช่วงที่ฝนตกชุก ดินและอากาศมีความชื้นสูง
  • ผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยง ไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อเลี้ยงเพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนแปลง สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ