พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 26 กันยายน 2557 - 02 ตุลาคม 2557

ข่าวทั่วไป Monday September 29, 2014 08:57 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 26 กันยายน 2557 - 02 ตุลาคม 2557

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 26-28 ก.ย. และวันที่ 1-2 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 29-30 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักกับลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนักและลมกระโชกแรง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
  • สำหรับในระยะที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้สภาพอากาศมีความชื้นสูง ชาวนาควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรคไหม้ และโรคใบขีดสีน้ำตาล เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโตผลผลิตลดลง
  • ส่วนในช่วงกลางเดือนหน้าจะเข้าสู่ฤดูหนาว อุณหภูมิต่ำสุดจะเริ่มลดลงโดยจะเริ่มจากทางตอนบนของภาคก่อน เกษตรกรควรเตรียมวัสดุ และอุปกรณ์สำหรับกันหนาวสำหรับตนเองและวัสดุสำหรับเพิ่มความอบอุ่นให้แก่สัตว์เลี้ยงเอาไว้ให้พร้อม

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 26-28 ก.ย. และวันที่ 1-2 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 29-30 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักกับลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนักและลมกระโชกแรง เกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับทรัพย์สินและพืชผลทางการเกษตร ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • สำหรับในเดือนตุลาคมจะเป็นช่วงเปลี่ยนจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาวสภาพอากาศจะเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มจากทางตอนบนของภาคก่อน เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย หากร่างกายปรับตัวไม่ทัน รวมทั้งจัดเตรียมวัสดุและอุปกรณ์สำหรับกันหนาวและให้ความอบอุ่นแก่ตนเองไว้ด้วย นอกจากนี้ควรเตรียมจัดทำแผงกำบังลมหนาวและอุปกรณ์หรือวัสดุสำหรับเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ไว้ให้พร้อม

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 26-29 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 30 ก.ย.-2 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนักติดต่อกัน เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
  • สำหรับชาวสวนผลไม้ ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากความชื้นสูง เช่นโรคที่เกิดจากเชื้อรา และแบคทีเรีย เป็นต้น เช่นโรคแคงเกอร์และราสีชมพูในส้มโอ โรคแอนแทรกโนสในองุ่น เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย การผลิดอกออกผลจะลดลงในปีถัดไป
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว อากาศถ่ายเทได้สะดวกไม่อับชื้น พื้นคอกไม่ชื้นแฉะ เพื่อป้องกันสัตว์เปียกชื้น อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 26-29 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 30 ก.ย.-2 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส

  • สำหรับเกษตรกรที่ปลูกพืชในช่วงปลายฤดูฝน ควรคลุกเมล็ดพันธุ์หรือชุบท่อนพันธุ์ด้วยสารป้องกันเชื้อราก่อนปลูก และควรเลือกปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง
  • ส่วนสวนผลไม้ ในช่วงปลายฤดูฝน เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งไม้ผล โดยตัดแต่งกิ่งน้ำค้าง กิ่งที่ไขว้กัน กิ่งที่มีโรคและแมลงทำลาย แล้วทาแผลรอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา นอกจากนี้ควรนำกิ่งและใบที่ตัดไปกำจัดให้ถูกวิธี โดยเผาหรือฝังให้ลึก ไม่ควรปล่อยไว้ในบริเวณสวนเพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 26-29 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ส่วนในช่วงวันที่ 30 ก.ย.-2 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส

  • สำหรับทางภาคใต้ฝั่งตะวันออกปริมาณและการกระจายของฝนจะเริ่มเพิ่มขึ้นโดยเริ่มจากทางตอนบนของภาคบริเวณจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ก่อน เกษตรกรควรขุดลอกคูคลองและทางระบายน้ำอย่าให้ตื้นเขิน เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวก ป้องกันน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรเมื่อมีฝนตกหนัก
  • ส่วนชาวสวนผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด และเงาะ เป็นต้น ควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นในสวน ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากชื้อรา รวมทั้งดูแลบริเวณโคนต้นพืชให้โล่งเตียน ไม่ควรกองสุมวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไว้ในสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช
  • ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้อากาศและดินมีความชื้นสูง เกษตรกรที่ปลูกยางพารา ควรระวังและป้องกันโรคเส้นดำและโรคราสีชมพู หากพบการระบาดของโรคดังกล่าวควรรีบป้องกันกำจัด เพื่อไม่ให้เชื้อโรคลุกลามไปยังต้นอื่นๆ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ในช่วงวันที่ 26-29 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 30 ก.ย. - 2 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส

  • เนื่องจากในระยะครึ่งหลังของเดือนตุลาคมปริมาณและการกระจายของฝนจะเริ่มลดลงทางภาคใต้ฝั่งตะวันตก เกษตรกร ควรกักเก็บน้ำฝนในช่วงนี้ไว้ใช้ทางด้านการเกษตร
  • ส่วนชาวสวนผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด และเงาะ เป็นต้น ควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นในสวน ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากชื้อรา รวมทั้งดูแลบริเวณโคนต้นพืชให้โล่งเตียน ไม่ควรกองสุมวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไว้ในสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช
  • ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้อากาศและดินมีความชื้นสูง เกษตรกรที่ปลูกยางพารา ควรระวังและป้องกันโรคเส้นดำและโรคราสีชมพู หากพบการระบาดของโรคดังกล่าวควรรีบป้องกันกำจัด เพื่อไม่ให้เชื้อโรคลุกลามไปยังต้นอื่นๆ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ