พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 03 กรกฎาคม 2558 - 09 กรกฎาคม 2558

ข่าวทั่วไป Friday July 3, 2015 14:25 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 03 กรกฎาคม 2558 - 09 กรกฎาคม 2558

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 3 - 5 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 6 - 9 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 15-35 กม./ชม.

  • ระยะนี้เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ใบและยอดอ่อนเสียหาย ผลผลิตด้อยคุณภาพ
  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในช่วงฤดูฝนนี้ ควรเตรียมดินเอาไว้ให้พร้อม และควรเตรียมดินให้มีการระบายน้ำที่ดี เนื่องจากหลังจากฝนทิ้งช่วงผ่านไปแล้วปริมาณและการกระจายของฝนจะเพิ่มขึ้น
  • ส่วนฝนที่มีน้อยในระยะนี้จะเป็นผลดีแก่ไม้ผลที่อยู่ในระยะผลแก่และเก็บเกี่ยว เพราะจะทำให้มีความหวานที่เหมาะสม และผลไม่แตก แต่ควรระวังและป้องกันศัตรูสัตว์ เช่น ค้างคาว กระรอก และผีเสื้อมวนหวาน ซึ่งจะกัดกินและดูดกินน้ำหวานจากผลทำให้ผลเสียหาย ผลผลิตด้อยคุณภาพ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 3 - 5 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 6 - 9 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 15-35 กม./ชม.

  • พื้นที่ซึ่งมีฝนตกน้อย เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรต่างๆ ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืช ทำให้ต้นพืชทรุดโทรม ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
  • สำหรับ เกษตรกรที่เตรียมดินสำหรับปลูกพืชในช่วงฤดูฝนนี้ควรเตรียมดินให้มีการระบายน้ำที่ดี และหากเป็นไปได้ควรหันหัวแปลงปลูกตามทิศทางลม เพื่อลดความชื้นในแปลงปลูก เนื่องจากหลังจากฝนทิ้งช่วงไปแล้วปริมาณและการกระจายของฝนจะเพิ่มขึ้น
  • ระยะนี้ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงควรดูแลปริมาณน้ำให้เหมาะสมกับจำนวนสัตว์น้ำที่เลี้ยง หากปริมาณน้ำมีน้อยจะทำให้สัตว์น้ำอยู่กันอย่างแออัด ส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 3 - 5 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 6- 9 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางด้านตะวันตกและตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.

  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในช่วงฤดูฝนนี้ควรรอให้มีฝนตกสม่ำเสมอหรือความชื้นในดินเพียงพอ แล้วค่อยลงมือปลูก เพื่อลดความเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นขณะพืชอยู่ในระยะต้นอ่อน
  • เนื่องจากระยะต่อไปหลังจากฝนทิ้งช่วงผ่านไปแล้วปริมาณและการกระจายของฝนจะเพิ่มขึ้น ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรซ่อมแซมโรงเรือนให้มีความมั่นคง ยกพื้นคอกสัตว์ให้สูง รวมทั้งดูแลหลังคาโรงเรือนอย่าให้รั่วซึม ป้องกันสัตว์เปียกชื้นจนอ่อนแอ เมื่อมีฝนตก
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงควรเตรียมวัสดุสำหรับกั้นขอบบ่อ และอุปกรณ์สำหรับสูบน้ำเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน เนื่องจากระยะต่อจากฝนทิ้งช่วงไปแล้วปริมาณและการกระจายของฝนจะเพิ่มขึ้น

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 3-5 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 6 - 9 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-37 องศาเซลเซียส

  • สำหรับสวนผลไม้ที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่ง และขั้วผล และทาแผลรอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา รวมทั้งใส่ปุ๋ยเพื่อให้ต้นพื้นตัวได้เร็ว มีเวลาพักตัวได้นาน
  • ส่วนพื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำขังในพื้นที่เพาะปลูก ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา
  • อนึ่ง ในช่วงวันที่ 4-9 ก.ค. บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็ก ควรงดออกจากฝั่ง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 3 - 5 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 6-9 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบนของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส

  • ระยะนี้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณและการกระจายของฝนมากกว่าทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก เกษตรกรควรขุดลอกคูคลองและทางระบายน้ำอย่าให้ตื้นเขิน น้ำไหลได้สะดวก เพื่อป้องกันน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่เพาะปลูกเมื่อมีฝนตกหนักโดยเฉพาะในช่วงที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรง
  • ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะทางตอนล่างของภาค เกษตรกรควรให้น้ำแก่ไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผลอย่างเพียงพอ เพราะถ้าได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ผลชะงักการเจริญเติบโต หากขาดน้ำจะทำให้ผลหลุดร่วง ผลผลิตลดลง
  • อนึ่ง ในช่วงวันที่ 4-9 ก.ค.บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรระวังและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น สำหรับชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กในบริเวณดังกล่าวควรงดออกจากฝั่ง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากในช่วงวันที่ 6-9 ก.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส

  • ระยะนี้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณและการกระจายของฝนมากกว่าทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก เกษตรกรควรขุดลอกคูคลองและทางระบายน้ำอย่าให้ตื้นเขิน น้ำไหลได้สะดวก เพื่อป้องกันน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่เพาะปลูกเมื่อมีฝนตกหนักโดยเฉพาะในช่วงที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรง
  • สำหรับในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกัน โดยเฉพาะทางภาคใต้ฝั่งตะวันตก เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวน เช่นโรคใบยางร่วงลูกยางเน่า ในยางพารา โรคราสนิมในกาแฟ และโรคเน่าคอดินในกาแฟต้นอ่อน เป็นต้น
  • อนึ่ง ในช่วงวันที่ 4-9 ก.ค.บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรระวังและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น สำหรับชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กในบริเวณดังกล่าวควรงดออกจากฝั่ง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ