พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 27 กรกฎาคม 2558 - 02 สิงหาคม 2558

ข่าวทั่วไป Monday July 27, 2015 15:48 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 27 กรกฎาคม 2558 - 02 สิงหาคม 2558

ภาคเหนือ

มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 27-30 ก.ค. มีฝนหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบน และด้านตะวันตกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 15-35 กม./ชม.

  • สัปดาห์นี้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักโดยเฉพาะทางตอนบนและด้านตะวันตกของภาค เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งเคยมีน้ำท่วมมาก่อนควรระวังอันตรายและเตรียมป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
  • ในช่วงที่มีฝนตกหนัก ลำไยที่อยู่ในระยะผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยวอาจทำให้ผลแตกและร่วงหล่นเน่าเสีย ตามโคนต้นและภายในสวน เกษตกรควรกำจัด เพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยหลบซ่อนของโรคพืช
  • สำหรับพืชผลทางการเกษตรที่แก่ดีแล้ว เกษตรกรควรรีบเก็บเกี่ยวไม่ควรปล่อยไว้ในพื้นที่เพาะปลูก เพราะอาจเกิดความเสียหายได้
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ควรเตรียมวัสดุสำหรับกั้นขอบบ่อ เพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าบ่อเมื่อมีฝนตกหนัก จนทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว สัตว์น้ำจะปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและอาจส่งผลให้เป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง มีฝนหนักบางแห่งส่วนมากทางตอนบน และด้านตะวันออกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 15-35 กม./ชม.

  • สัปดาห์นี้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักโดยเฉพาะทางตอนบนและด้านตะวันออกของภาค เกษตรกรในพื้นทีเสี่ยงภัยควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับทรัพย์สินและพืชผลทางการเกษตร
  • สำหรับบริเวณที่มีฝนตกหนัก อาจทำให้มีน้ำบ่าไหลเข้าแปลงนา ชาวนาควรระวังและป้องกันหอยเชอรี่ที่ลอยมากับน้ำโดยใช้ตาข่ายดักบริเวณทางน้ำไหลเข้านาแล้วจับหอยไปทำลาย เพื่อป้องกันหอยเข้ามาแพร่พันธุ์ในแปลงนาในระยะต่อไป
  • ส่วนบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำที่สกปรก หากมีความจำเป็นควรสวมรองเท้าบูตเพื่อป้องกันโรคฉี่หนู รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะ เพื่อป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ

ภาคกลาง

มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.

  • สัปดาห์นี้จะมีฝนเพิ่มขึ้นส่วนมากทางตะวันตกของภาค พื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรเตรียมการจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำขัง
  • ส่วนทางตอนบนและด้านตะวันออกของภาค ยังคงมีฝนตกน้อย ปริมาณ และการกระจาย ไม่พอเพียงต่อความต้องการของพืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต เกษตรกรที่ปลูกพืชไร่ควรให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืช รวมทั้งป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ ที่จะดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้พืชทรุดโทรม ชะงักการเจริญเติบโต

ภาคตะวันออก

มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

  • สัปดาห์นี้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ชาวสวนไม้ผลควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงแดดส่องถึงโคนต้น เพื่อลดความชื้นภายในสวน ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่า ซึ่งมักระบาดในช่วงที่ดินมีความชื้นสูง
  • สภาพอากาศที่ชุ่มชื้นมักเกิดโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราน้ำค้างในพืชผัก โรคไหม้ในข้าว และโรครากขาวในพริกไทย เป็นต้น เกษตรกรควรระวังและป้องกันกำจัดโรคพืชดังกล่าวด้วย

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส

  • ทางฝั่งตะวันออกยังคงมีฝนตกน้อย ไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล ชาวสวนควรให้น้ำเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้ผลชะงักการเจริญเติบโต และผลผลิตด้อยคุณภาพ นอกจากนี้ เกษตรกรควรหมั่นสังเกตหากพบผลที่เป็นโรค หรือศัตรูพืชเข้าทำลายควรรีบกำจัดเพื่อไม่ให้ลุกลามไปยังผลอื่นๆ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

  • เนื่องจากระยะที่ผ่านมาทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักประกอบกับยังคงมีฝนต่อเนื่องในระยะนี้ ทำให้ดินมีความชื้นสูง เกษตรกรที่ปลูกพืชสวนควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่าซึ่งมักระบาดในช่วงฤดูฝน
  • อนึ่ง สัปดาห์นี้ บริเวณทะเลอันดามันตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมา จะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ