พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 09 กันยายน 2558 - 15 กันยายน 2558

ข่าวทั่วไป Wednesday September 9, 2015 16:00 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 09 กันยายน 2558 - 15 กันยายน 2558

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 9-12 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 13-15 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • ระยะนี้เกษตรกร ควรตัดแต่งกิ่งไม้ผลให้ทรงพุ่มโปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน ป้องกันโรคพืชที่เกิดจาก เชื้อรา โดยเฉพาะลำไยที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วควรใส่ปุ๋ยเพื่อให้ต้นฟื้นตัวได้เร็ว มีเวลาพักตัวได้นานขึ้น รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้ผลที่เน่าเสียและร่วงหล่นกองอยู่ภายในบริเวณสวนและโคนต้นพืช เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช
  • บริเวณที่มีฝนตกโดยเฉพาะทางตอนบนของภาค เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตร เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงที่มีฝน ตกน้อย
  • ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน จนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกอุณหภูมิของน้ำในระดับบนและน้ำในระดับที่ลึกลงไปจะแตกต่างกัน เกษตรกรควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อให้น้ำผสมเป็นเนื้อเดียวกัน และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 9-12 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 13-15 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • ในช่วงที่มีฝนตก ชาวนาควรระวังและป้องกันหอยเชอรี่ที่ลอยมากับน้ำ โดยใช้ตาข่ายดักบริเวณทางน้ำไหลเข้านาแล้วจับหอยไปทำลาย เพื่อป้องกันหอยดังกล่าวเข้ามาแพร่พันธุ์ในแปลงนา
  • เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะในสัตว์เท้ากีบอาจเป็นโรคปากและเท้าเปื่อยได้ ซึ่งโรคดังกล่าวมักระบาดในช่วงฤดูฝน
  • สำหรับพื้นที่ซึ่งมีฝนตกบริเวณทางตอนบนของภาค เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตร เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงที่ มีฝนน้อย

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 9-12 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 13-15 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งอุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

  • สำหรับในช่วงฤดูฝนแมลงและศัตรูสัตว์ เช่น เหลือบ ริ้น และไรต่างๆ เป็นต้น จะเจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูสัตว์ดังกล่าวมารบกวนสัตว์เลี้ยง ซึ่งบางชนิดอาจนำโรคมาสู่สัตว์เลี้ยงได้
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ฝนที่ตกในระยะนี้จะทำให้น้ำแยกชั้นระหว่างผิวน้ำกับน้ำในระดับที่ลึกลงไป เกษตรกรควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อให้น้ำผสมเป็นเนื้อเดียวกัน และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ นอกจากนี้ไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 9-12 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 13-15 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส

  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูกเป็นเวลานานทำให้รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้
  • ระยะนี้ชาวสวนผลไม้ควรดูแลสภาพสวนสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวนป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการกองสุมวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ กิ่งไม้ และหญ้าแห้ง เป็นต้น เอาไว้บริเวณโคนต้นพืช เพราะอาจเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 9-12 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 13-15 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบนของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งทะเลคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนักติดต่อกัน เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายที่เกิดจากสภาวะดังกล่าวโดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งเคยมีน้ำท่วมมาก่อน
  • สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะผลแก่ หากเก็บเกี่ยวได้แล้ว เกษตรกรควรรีบเก็บเกี่ยวไปก่อนไม่ควรปล่อยไว้ในสวนเพราะอาจได้รับความเสียหายเนื่องจากฝนที่ตกได้
  • สำหรับพืชสวน เช่น ยางพาราและกาแฟ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน
  • สำหรับในช่วงวันที่ 13-15 ก.ย. บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรระวังและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ในช่วงวันที่ 9-12 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 13-15 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบนของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนักติดต่อกัน เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายที่เกิดจากสภาวะดังกล่าวโดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งเคยมีน้ำท่วมมาก่อน
  • สำหรับพืชสวน เช่น ยางพาราและกาแฟ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน
  • สำหรับในช่วงวันที่ 13-15 ก.ย. บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรระวังและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ