พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 19 กุมภาพันธ์ 2559 - 25 กุมภาพันธ์ 2559

ข่าวทั่วไป Friday February 19, 2016 13:40 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 19 กุมภาพันธ์ 2559 - 25 กุมภาพันธ์ 2559

ภาคเหนือ

วันที่ 20-22 ก.พ. อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 12-15 องศาเซลเซียส ส่วนทางตอนล่างของภาคอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 17-20 องศาเซลเซียส กับมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 5-11 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม ส่วนในช่วงวันที่ 23-25 ก.พ. อุณหภูมิจะสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆร้อยละ 10-20 ของพื้นที่

  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง โดยมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า และเริ่มจะมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย หากร่างกายปรับตัวไม่ทัน
  • ส่วนบางช่วงอาจมีหมอกและน้ำค้าง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคราสนิมและราน้ำค้างในพืชไร่ พืชผัก และไม้ดอก ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหายผลผลิตลดลง รวมทั้งเกษตรกรไม่ควรตากผลผลิตทางการเกษตรทิ้งไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะอาจเปียกชื้นเสียหาย เนื่องจากหมอกและน้ำค้างได้
  • สำหรับฝนที่ตกในระยะนี้ยังมีปริมาณน้อย ชาวสวนลิ้นจี่ และลำไย ที่อยู่ในระยะออกดอกและติดผลอ่อน เกษตรกรควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ หากขาดน้ำจะทำให้ดอกร่วงหล่น การติดผลลดลง ผลผลิตเสียหาย รวมทั้งป้องกันกำจัด มวนลำไย และหนอนเจาะกิ่งและลำต้น ซึ่งจะทำให้ต้นพืชทรุดโทรมผลผลิดด้อยคุณภาพ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ตะวันออก เฉียงเหนือ ในช่วงวันที่ 20-22 และ 24-25 ก.พ. อากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 12-19 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-11 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม.

  • ระยะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนฤดูกาลจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน อากาศจะเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควร รักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • สำหรับสภาพอากาศแห้งและลมแรง ทำให้น้ำระเหยไปจากดินและต้นพืชมาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน
  • นอกจากนี้เกษตรกรไม่ควรเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพราะไฟอาจจะลุกลามทำให้เกิดอัคคีภัยและไฟป่าได้ รวมทั้งควันไฟจากการเผาไหม้จะทำให้ทัศนวิสัยลดลง และเกิดเป็นมลพิษทางอากาศ

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 19-21 ก.พ. อุณหภูมิสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ กับมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 22-25 ก.พ. อากาศเย็นในตอนเช้า โดยอุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อยกับมีฝนเล็ก น้อยบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-34 องศาเซลเซียส ลมตะวัน ออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

  • ระยะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนฤดูจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน อากาศจะเปลี่ยนแปลง โดยมีอากาศเย็นในตอนเช้าส่วนกลางวันอากาศร้อน เกษตรกรควรรักษาสุขภาพของตนเองให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • สำหรับในตอนกลางวันจะมีอากาศร้อน ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก รวมทั้งควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทันจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • สำหรับผู้ที่ปลูกพืชไร่และผักชนิดต่างๆ ควรให้น้ำแก่พืชเพิ่มเติมและคลุมโคนต้นด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยน้ำจากดิน

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 19-21 ก.พ. อุณหภูมิสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 22-25 ก.พ. อากาศเย็นในตอนเช้า โดยอุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อยกับมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1- 2 เมตร

  • ช่วงนี้มีฝนตกน้อย เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชเพิ่มเติม โดยเฉพาะไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล หากขาดน้ำจะทำให้ผลผลิตด้อยคุณภาพ รวมทั้งป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ โดยเฉพาะเพลี้ยแป้งในเงาะ เพลี้ยไฟในมังคุด และเพลี้ยไก่แจ้ในทุเรียน ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ต้นพืชทรุดโทรม
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยง ควรดูแลปริมาณน้ำ และจำนวนสัตว์น้ำที่เลี้ยงให้เหมาะสม หากปริมาณน้ำมีน้อยจะทำให้สัตว์น้ำอยู่กันหนาแน่นเกินไป จนทำให้อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ตลอดช่วง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา ทะเลมีคลื่นสูง1- 2 เมตร ลมตะวันออก ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ส่วนตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 2-3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส

  • ช่วงนี้ แม้จะมีฝน แต่ปริมาณและการกระจายของฝน ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช เกษตรกรควรให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืชที่กำลังเจริญเติบโตอย่างเพียงพอ หากขาดน้ำจะทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต และกำจัดวัชพืชบริเวณโคนต้นเพื่อไม่ให้แย่งอาหารและน้ำจากต้นพืช รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวก ปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโตและแคระแกร็น
  • สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะออกดอก เกษตรกรควรดูแลให้น้ำอย่างเหมาะสม เพราะหากขาดน้ำจะทำให้ดอกร่วง การติดผลลดลง และหากปริมาณดอกมีมากเกินไปควรตัดแต่งช่อดอกให้เหลือพอดีกับขนาดของกิ่ง เพื่อลดการแย่งอาหารและน้ำของดอก
  • อนึ่งในช่วงนี้ บริเวณอ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดนครศรี ธรรมราช ลงไปจะมีคลื่นลมแรง โดยทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1- 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส

  • ช่วงนี้ แม้จะมีฝน แต่ปริมาณและการกระจายของฝน ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช เกษตรกรควรให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืชที่กำลังเจริญเติบโตอย่างเพียงพอ หากขาดน้ำจะทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต และกำจัดวัชพืชบริเวณโคนต้นเพื่อไม่ให้แย่งอาหารและน้ำจากต้นพืช รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวก ปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโตและแคระแกร็น
  • สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะออกดอก เกษตรกรควรดูแลให้น้ำอย่างเหมาะสม เพราะหากขาดน้ำจะทำให้ดอกร่วง การติดผลลดลง และหากปริมาณดอกมีมากเกินไปควรตัดแต่งช่อดอกให้เหลือพอดีกับขนาดของกิ่ง เพื่อลดการแย่งอาหารและน้ำของดอก

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ