พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 19 สิงหาคม 2559 - 25 สิงหาคม 2559

ข่าวทั่วไป Friday August 19, 2016 14:15 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 19 สิงหาคม 2559 - 25 สิงหาคม 2559

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 19-20 และ 23-25 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 19-20 ส.ค. ส่วนในช่วงวันที่ 21 -22 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม.

  • พืชผัก : ดูแลระบบระบายน้ำออกจากแปลงปลูกป้องกันน้ำท่วมขัง และระวังโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคเน่าคอดิน โรคเน่าดำ และโรคเน่าเละ
  • ข้าวนาปี : โรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง และศัตรูพืช เช่น หนอนห่อใบข้าว
  • สัตว์น้ำ (ในบ่อ) : เสริมขอบบ่อไม่ให้น้ำฝนไหลลงบ่อ ทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์อ่อนแอเป็นโรค และเปิดเครื่องตีน้ำหลังฝนตก เพื่อปรับอุณหภูมิน้ำ เพิ่มออกซิเจน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 19 และ 22-24 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบนของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 20 -21 ส.ค.มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม.

  • ข้าวนาปี : ระวังป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคไหม้ และศัตรูพืชจำพวกหนอน
  • สัตว์เลี้ยง :ไม่ควรปล่อยให้อยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ
  • มันสำปะหลัง : โรคใบไหม้ และโรคแอนแทรกโนส

ภาคกลาง

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ตลอดช่วง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส

  • ข้าวนาปี : โรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคไหม้ และศัตรูพืชจำพวกหนอนชนิดต่างๆ
  • สัตว์ปีก : ดูแลโรงเรือนให้โปร่งอากาศถ่ายเท เพื่อลดความชื้นป้องกันสัตว์ป่วย
  • ไม้ดอกไม้ประดับ : ดูแลโรงเรือนให้สะอาด อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในโรงเรือน ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา และศัตรูพืชจำพวกหนอน

ภาคตะวันออก

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง มีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 23-25 ส.ค. ในช่วงวันที่ 19-21 ส.ค. ลมตะวันตก เฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ในช่วงวันที่ 22-25 ส.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส

  • ไม้ผล : ดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก ป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่า โรคราใบติดในทุเรียน หนอนกินใบ ใบจุดสาหร่ายในเงาะ
  • พริกไทย : ดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่า และ โรคแอนแทรกโนส
  • ประมงชายฝั่ง คลื่นลมแรง: ในช่วงวันที่ 19-21 ส.ค. คลื่นสูง 2-3 เมตร ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรระวังความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 19-21 ส.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 3 เมตร ในช่วงวันที่ 22-25 ส.ค. ลมตะวันตก เฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส

  • ไม้ผล : ระวังป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่นหนอนเจาะลำต้น โรครากเน่า-โคนเน่าในทุเรียน หนอนเจาะขั้วผล เพลี้ยแป้ง ผลเน่าในเงาะ
  • ยางพารา :ดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคราสีชมพู และโรคเส้นดำ เป็นต้น
  • ประมงชายฝั่ง คลื่นลมมีกำลังแรง: ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งบริเวณทะเลอันดามันควรระวังป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 23-24 ส.ค. ในช่วงวันที่ 19-21 ส.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-45 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 4 เมตร ในช่วงวันที่ 22-25 ส.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส

  • ไม้ผล : ระวังป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่นหนอนเจาะลำต้น โรครากเน่า-โคนเน่าในทุเรียน หนอนเจาะขั้วผล เพลี้ยแป้ง ผลเน่าในเงาะ
  • ยางพารา :ดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคราสีชมพู และโรคเส้นดำ เป็นต้น
  • ประมงชายฝั่ง คลื่นลมมีกำลังแรง: ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งบริเวณทะเลอันดามันควรระวังป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง

หมายเหตุ ปริมาณฝนสะสมเดือนสิงหาคม (วันที่ 1 – 18 ส.ค.) ฝนสะสมในช่วงนี้ส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 50-200 มม. เว้นแต่บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนสะสมเกิน 200 มม. และในบางพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างมีฝนสะสมน้อยกว่า 50 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณด้านตะวันออกของภาคเหนือ บางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านตะวันตกของภาคกลางและภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีปริมาณฝนสะสมเกิน 100 มม. ส่วนบริเวณอื่นๆมีฝนน้อยกว่า 40 มม. และบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนล่าง รวมทั้งภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างไม่มีรายงานฝนตก

ศักย์การคายระเหยน้ำ : ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาบริเวณประเทศไทยมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 15-25 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกและภาคใต้ มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 30 – 35 มม.

สมดุลน้ำ : ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาหลายพื้นที่มีฝนตกหนักทำให้สมดุลน้ำมีค่าเป็นบวก เว้นแต่ในบางพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีค่าสมดุลน้ำเป็นลบ

คำแนะนำ : ในช่วง 7 วันที่ผ่านมามีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ทำให้สมดุลน้ำมีค่าเป็นบวกในหลายพื้นที่ และในช่วง 7 วันข้างหน้ายังคงมีฝนกับมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก ส่วนบริเวณอื่นๆซึ่งมีค่าสมดุลน้ำเป็นลบในช่วงที่ผ่านมา และในช่วง 7 วันข้างหน้าจะมีฝนตกน้อย เกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชที่ปลูกอย่างเหมาะสม

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ