พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 12 ตุลาคม 2559 - 18 ตุลาคม 2559

ข่าวทั่วไป Wednesday October 12, 2016 16:10 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 12 ตุลาคม 2559 - 18 ตุลาคม 2559

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 13-14, 18 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ในช่วงวันที่ 12, 15-17 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

-เกษตรกร ระยะนี้ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง โดยจะเริ่มจากทางตอนบนของภาค เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตร เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงที่มีฝนตกน้อย ระยะต่อไปจะเป็นฤดูหนาว เกษตรกรควรจัดเตรียมวัสดุและอุปกรณ์สำหรับกันหนาวเอาไว้ให้พร้อม

-สัตว์เลี้ยง เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรจัดเตรียมวัสดุและอุปกรณ์สำหรับเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือนเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน โดยเฉพาะสัตว์ที่ยังเล็กควรทำแผงกำบังลมหนาว เพื่อป้องกันลมโกรกโรงเรือนทำให้สัตว์หนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

-ไม้ผล ระยะที่ผ่านมามีฝนตกชุก วัชพืชจะเจริญเติบโตได้ดี สำหรับไม้ผลที่พักตัวเพื่อเตรียมแทงช่อดอกในช่วงฤดูหนาว เช่น ลิ้นจี่ และลำไย เป็นต้น ชาวสวนควรกำจัดวัชพืชบริเวณโคนต้นให้โล่งเตียน เพื่อให้ดินแห้ง เป็นการกระตุ้นการออกดอก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 12-13, 17-18 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ในช่วงวันที่ 14-16 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งอุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

-สำหรับทางตอนบนของภาคปริมาณและการกระจายของฝนจะเริ่มลดลง เกษตรกรควรกักเก็บน้ำ เอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตร เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงแล้ง

-ข้าว สำหรับข้าวนาปีที่อยู่ในระยะตั้งท้องและออกรวง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดโรคไหม้ และหนอนกอ ซึ่งจะทำให้ต้นข้าวเสียหาย ผลผลิตลดลง

-พืชไร่ พื้นที่ซึ่งมีฝนตกชุก เกษตรกรที่ปลูกพืชไร่ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราสนิมและโรคราน้ำค้าง ในข้าวโพด โรคหัวมันเน่าและโคนเน่าในมันสำปะหลัง เป็นต้น

-สัตว์เลี้ยง เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบ

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 12-14, 18 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ในช่วงวันที่ 15-17 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมแปรปรวน ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

-พื้นที่การเกษตร สำหรับพื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรที่ปลูกพืชไร่พืชสวน และพืชผัก ควรจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำขังในพื้นที่เพาะปลูก เป็นเวลานาน ทำให้รากพืชขาดอากาศต้นพืชตายได้

-สัตว์เลี้ยง ระยะนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝนศัตรูสัตว์ และแมลงต่างๆ จะเจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้ศัตรูสัตว์ดังกล่าวมารบกวนสัตว์เลี้ยง เพราะจะทำให้สัตว์ชงักการเจริญเติบโต และศัตรูสัตว์บางชนิดอาจเป็นพาหะนำโรคมาสู่สัตว์เลี้ยงได้

-ปลาในกระชัง ฝนทีตกจะชะล้างดินลงสู่แหล่งน้ำทำให้เกิดตะกอนแขวนลอยในน้ำ ส่งผลให้สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน กินอาหารลดลง เครียด อ่อนแอ และน๊อกน้ำตายได้ เกษตรกรควรลดปริมาณสัตว์น้ำ และปริมาณอาหารให้น้อยลง หากโตได้ขนาดควรรีบจับขายเพื่อลดความเสี่ยง

ภาคตะวันออก

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 14-17 ต.ค. มีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1- 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส

-แปลงปลูกพืชที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำในพื้นที่เพาะปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืช เป็นเวลานาน ทำให้รากพืชขาดอากาศต้นพืชตายได้

-ยางพารา ในช่วงที่ฝนตกชุก เกษตรกรควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นสะสมภายในสวนป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรคใบยางร่วงลูกยางเน่า และโรคหน้ากรีดยาง เป็นต้น

-ไม้ผล ฝนที่ตกชุกทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกัน การระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่า โรคราใบติด ในทุเรียน โรคราสีชมพูในลองกอง เป็นต้น

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 12-14 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ในช่วงวันที่ 15-18 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส

-ไม้ผล ไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้ เปลือกและผลที่ร่วงหล่นเน่าเสีย กองอยู่ในบริเวณสวน แต่ควรนำไปกำจัดให้ถูกวิธี คือเผาหรือฝังให้ลึก เพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยหลบซ่อนของโรคและศัตรูพืช

-พื้นที่การเกษตร เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงฤดูฝนของทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก ปริมาณและการกระจายของฝนจะเพิ่มขึ้น เกษตรกรควรดูและบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ โดยขุดลอกคูคลองและทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก ตลอดจนสันดอนปากแม่น้ำพ อย่าให้ตื้นเขิน เพื่อป้องกันน้ำอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่เพาะปลูกและที่อยู่อาศัย เมื่อมีฝนตกหนัก

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส

-พื้นที่การเกษตร เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงฤดูฝนของทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก ปริมาณและการกระจายของฝนจะเพิ่มขึ้น เกษตรกรควรดูและบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ โดยขุดลอกคูคลองและทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก ตลอดจนสันดอนปากแม่น้ำพ อย่าให้ตื้นเขิน เพื่อป้องกันน้ำอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่เพาะปลูกและที่อยู่อาศัย เมื่อมีฝนตกหนัก

-ยางพารา ฝนที่ตกติดต่อกันทำให้ความชื้นในดินและในอากาศสูง เกษตรกรที่ปลูกยางพาราควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคเส้นดำ และโรคราสีชมพู เป็นต้น โดยดูแลสวนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นสะสมภายในสวน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ