พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 25 พฤศจิกายน 2559 - 01 ธันวาคม 2559

ข่าวทั่วไป Friday November 25, 2016 14:51 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 25 พฤศจิกายน 2559 - 01 ธันวาคม 2559

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 25-26 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ และอุณหภูมิลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 15-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 27 พ.ย.- 1 ธ.ค. อุณหภูมิจะลดลงอีก 2-4 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 13-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-10 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

  • เกษตรกร ระยะนี้จะมีอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะทางตอนบนของภาคจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าบริเวณอื่นๆ เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • ผลผลิตทางการเกษตร สำหรับหมอกและน้ำค้างในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคราน้ำค้างในพืชผัก ราสนิมในกาแฟ และราดำในมะขามหวาน นอกจากนี้ ไม่ควรตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายได้
  • สัตว์น้ำ ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรลดปริมาณอาหาร เนื่องจากอากาศที่เย็นทำให้สัตว์น้ำกินอาหารได้น้อยอาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสีย ส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 25-26 พ.ย. อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 18-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 27 พ.ย.- 1 ธ.ค. อุณหภูมิจะลดลงอีก 2-3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 15-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 9-13 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม.

  • พื้นที่การเกษตร ระยะนี้สภาพอากาศแห้งและมีแดดจัด ทำให้น้ำระเหยจากดินและพืชได้มาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน และรักษาความชื้นภายในดิน รวมทั้งระวังป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด ซึ่งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตเสียหายได้
  • สัตว์เลี้ยง ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง และมีลมแรง เกษตรกรควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน จนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย รวมทั้งทำแผงกันบังลมหนาว เพื่อป้องกันลมโกรกโรงเรือน ทำให้สัตว์หนาวเย็น

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 25-26 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ และอุณหภูมิลดลง 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 22-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 27 พ.ย.- 1 ธ.ค. อุณหภูมิจะลดลงอีก 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

  • พื้นที่การเกษตร สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรเลือกปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้น และใช้น้ำน้อย เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงแล้ง ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง
  • สัตว์เลี้ยง ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหมั่นสังเกตหากพบสัตว์ป่วยควรรีบแยกออกจากกลุ่มและทำการรักษา

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 25-26 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 27 พ.ย.- 1 ธ.ค. อุณหภูมิจะลดลงอีก 2-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 20-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร

  • พื้นที่การเกษตร เนื่องจากระยะต่อไป ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนตกน้อย รวมทั้ง ระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไร ชนิดต่างๆ ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชทำให้ต้นพืชเสียหายผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ นอกจากนี้ควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยน้ำของดินและพืช และเป็นสงวนความชื้นภายในดิน

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 27 พ.ย.-1 ธ.ค. ในช่วงวันที่ 25-26 พ.ย. ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ในช่วงวันที่ 27 พ.ย.- 1 ธ.ค. ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส

  • พื้นที่การ เกษตร ระยะนี้ ภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีปริมาณและการกระจายของฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง พื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก
  • สัตว์เลี้ยง ฝนตกต่อเนื่องทำให้สภาพอากาศมีความชื้น เกษตรกรควรป้องกันการเจ็บป่วยของสัตว์ เช่น โรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ และโรคหวัดในสัตว์ปีก รวมทั้งควรหมั่นสังเกต หากพบสัตว์ป่วยควรแยกออกจากกลุ่ม และรีบรักษา
  • ประมง ในช่วงวันที่ 27 พ.ย.- 1 ธ.ค. บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรง โดยมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร ผู้เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรระวังและป้องกันความเสียหายจากคลื่นลมแรงซัดเข้าหาฝั่ง ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 25-30 พ.ย. ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส

  • สัตว์เลี้ยง ฝนตกต่อเนื่องทำให้สภาพอากาศมีความชื้น เกษตรกรควรป้องกันการเจ็บป่วยของสัตว์ เช่น โรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ และโรคหวัดในสัตว์ปีก รวมทั้งควรหมั่นสังเกต หากพบสัตว์ป่วยควรแยกออกจากกลุ่ม และรีบรักษา

หมายเหตุรายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในวันที่ 25 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2559

http://www.arcims.tmd.go.th/dailydata/PET7day.php

รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตรในวันที่ 25 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2559

ปริมาณฝนสะสมเดือน พฤศจิกายน(1-24) บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนตกสะสมน้อยกว่า 100 มม. เป็นส่วนใหญ่ สำหรับบริเวณที่มีปริมาณฝนสะสม 100-300 มม. ได้แก่ จังหวัดหนองคาย เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี และขอนแก่น ปราจีนบุรี จันทบุรีและตราด บริเวณภาคใต้มีปริมาณฝนตกสะสม 50-200 มม. เป็นส่วนใหญ่ สำหรับบริเวญที่มีปริมาณฝนตกสะสม 200-400 มม.ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนตกสะสมน้อยกว่า 40 มม.เป็นส่วนใหญ่ ส่วนใหญ่ ส่วนบริเวณที่มีปริมาณฝนสะสม 40-70 มม. ได้แก่จังหวัดจันทบุรี สำหรับบริเวณภาคใต้มีปริมาณฝนตกสะสม 10-70 มม. เป็นส่วนใหญ่ ส่วนบริเวณที่มีบริเวณที่มีปริมาณฝนสะสม 70-150 มม. สำหรับบริเวณที่มีปริมาณฝนตกสะสม 70-150 มม. ได้แก่ บริเวณจังหวัดตรังและสุราษฎร์ธานี

ศักย์การคายระเหยน้ำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 20-30 มม. เป็นส่วนใหญ่

สมดุลน้ำ บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณสมดุลน้ำสะสมเป็น(-1)-(-30) มม.เป็นส่วนใหญ่ สำหรับบริเวณที่มีปริมาณสมดุลน้ำสะสม 10-70 มม.ได้แก่ จังหวัดสระบุรี พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี ระยอง จันทบุรีและตราด บริเวณภาคใต้มีปริมาณสมดุลน้ำสะสม 70-150 มม. เป็นส่วนใหญ่ บริเวณภาคใต้มีปริมาณสมดุลน้ำสะสม 1-70 มม.เป็นส่วนใหญ่ ส่วนบริเวณที่มีปริมาณสมดุลน้ำสะสม 70-150 มม. ได้แก่ จังหวีดตรัง

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านประเทศไทยตอนบนมีฝนตกน้อยทำให้สมดุลน้ำติดลบเป็นส่วนมาก ยกเว้นจังหวัดสระบุรี พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี ระยอง จันทบุรีและตราดและภาคใต้ตอนล่าง มีค่าสมดุลน้ำเป็นบวก และในช่วง 7 วันข้างหน้าประเทศไทยตอนบนจะมีฝนลดลง เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพและควรระวังป้องกันการระบาดศัตรูพืช จำพวกปากดูดในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น ซึ่งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตเสียหายได้ สำหรับภาคใต้ยังคงมีฝนตกตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ พื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังแปลงปลูกผักเมื่อมีฝนตกหนัก

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ