พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 18 พฤศจิกายน 2559 - 24 พฤศจิกายน 2559

ข่าวทั่วไป Friday November 18, 2016 15:33 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 18 พฤศจิกายน 2559 - 24 พฤศจิกายน 2559

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 19-22 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและอุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย โดยมีฝนเล็กน้อยส่วนมากทางตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 23 - 24 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

  • ผลผลิตทางการเกษตร ท้องฟ้าโปร่งในตอนกลางวันเหมาะกับการตากผลผลิตเพื่อลดความชื้น แต่ไม่ควรตากผลผลิตไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะอาจเปียกชื้นเสียหาย เนื่องจากหมอก และน้ำค้าง ส่วนในช่วงวันที่ 23 – 24 พ.ย. จะมีฝนเพิ่มขึ้น เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงตากผลผลิตในช่วงดังกล่าว
  • พืชสวน ระยะนี้มีหมอกและน้ำค้างในตอนเช้า เกษตรกรควรป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น ราสนิมในกาแฟ ราดำในมะม่วงและมะขามหวาน เป็นต้น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 19 - 21 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้าและมีหมอกหนาบางพื้นที่ อุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศา ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 22 - 24 พ.ย. อากาศเย็นในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 17-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศา ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

  • ผลผลิตทางการเกษตร ในช่วงวันที่ 19 – 24 พ.ย. จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงตากผลผลิตในช่วงดังกล่าว
  • พืชผักสวนครัว ระยะนี้สภาพอากาศที่มีความชื้น เนื่องจากหมอกในตอนเช้า และฝนที่เพิ่มมากขึ้น เกษตรกรควรป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น ราน้ำค้างในพืชตระกูลกะหล่ำ และโรคแอนแทรกโนสในตระกูลพริก-มะเขือ เป็นต้น
  • พื้นที่การเกษตร ในช่วง วันที่ 22 – 24 พ.ย. จะมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรกักเก็บน้ำไว้ใช้ทางด้านเกษตร และใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนตกน้อย

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 19-20 พ.ย. อากาศเย็นกับหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม. /ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 21-24 พ.ย. มีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

  • พื้นที่การเกษตร เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณฝนจะลดลง เกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทาน หากต้องการปลูกพืชรอบใหม่ ควรเลือกปลูกพืชที่มีระยะเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย เช่น พืชตระกูลถั่วและพืชผัก เป็นต้น
  • พืชไร่/ไม้ผล/พืชผัก สภาพอากาศชื้น เนื่องจากฝนและหมอก ในระยะนี้เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 19 - 21 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ในช่วงวันที่ 22-24 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส

  • ไม้ผล ระยะนี้มีฝนตกต่อเนื่อง อากาศและดินมีความชื้น ชาวสวนผลไม้ควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าและโคนเน่า รวมทั้งกำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แย่งน้ำและอาหารแก่ต้นพืช และเป็นแหล่งอาศัยหลบซ่อนของโรคและศัตรูพืช
  • พืชไร่/พืชผัก ระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพได้ และหมั่นสำรวจพื้นที่เพาะปลูก หากพบศัตรูพืชดังกล่าวควรรีบกำจัด เพื่อป้องกันการระบาดเป็นบริเวณกว้าง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 22-24 พ.ย. ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส

  • พื้นที่การ เกษตร บริเวณทางฝั่งตะวันออกของภาคจะมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง พื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก
  • ไม้ผล ไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งและขั้วผล แล้วทาแผลรอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้เปลือกและผลที่เน่าเสียกองอยู่ในบริเวณสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อราซึ่งมักระบาดในช่วงที่มีความชื้นสูง
  • ยางพารา สภาพอากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนยางพารา ควรระวังและป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากขาว โรคใบยางร่วง ลูกยางเน่า และโรคหน้ากรีดยาง เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส

  • ไม้ผล ไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งและขั้วผล แล้วทาแผลรอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้เปลือกและผลที่เน่าเสียกองอยู่ในบริเวณสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อราซึ่งมักระบาดในช่วงที่มีความชื้นสูง
  • ยางพารา สภาพอากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนยางพารา ควรระวังและป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากขาว โรคใบยางร่วง ลูกยางเน่า และโรคหน้ากรีดยาง เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง

รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตรในวันที่ 18 - 24 พฤศจิกายน 2559

ปริมาณฝนสะสมเดือน พฤศจิกายน (1-17) บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนตกสะสมน้อยกว่า 100 มม. เป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นบริเวณ จังหวัดเลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี และขอนแก่น และภาคใต้ตอนล่าง ที่มีฝนตกมากกว่า 100 มม. โดยปริมาณฝนสะสม 100-300 มม. สำหรับบริเวณภาคใต้มีปริมาณฝนตกสะสม 25-200 มม. เป็นส่วนมาก ส่วนบริเวณที่มีปริมาณฝนสะสมมากกว่า 200 มม. ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุงและสงขลา

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนตกสะสมน้อยกว่า 20 มม.เป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นบริเวณภาคเหนือตอนบน บริเวณเชียงใหม่ ลำปาง ตาก และภาคใต้ตอนล่าง ที่มีปริมาณฝนสะสม มากกว่า 20 มม. โดยบริเวณที่มีปริมาณฝนสะสมสูงสุด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมาราชและพัทลุง โดยปริมาณฝนสะสม 100-200 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 15-30 มม. เป็นส่วนใหญ่

สมดุลน้ำ บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณสมดุลน้ำสะสมเป็นลบ ส่วนใหญ่ โดยมีค่าอยู่ระหว่าง (-10)-(-40) มม. ยกเว้นภาคเหนือตอนบน บริเวณ จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ตาก และภาคใต้ตอนล่าง ที่มีค่าสมดุลน้ำเป็นบวก โดยมีค่าอยู่ระหว่าง (1)-(200) มม. โดยบริเวณที่มีสมดุลสูงสุด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราชและพัทลุง โดยค่าสมดุลน้ำอยู่ระหว่าง 70-200 มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านประเทศไทยตอนบนมีฝนตกน้อยทำให้สมดุลน้ำเป็นลบ เป็นส่วนมากและในช่วง 7 วันข้างยังคงมีฝนตก แต่ปริมาณน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช เกษตรกรควรพิจารณาให้น้ำเพิ่มเติม นอกจากนี้เกษตรกรควรกักเก็บน้ำไว้อย่างประหยัดเพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้ง นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น ซึ่งศัตรูพืชดังกล่างจะกัดกินส่วนอ่อนของพืชทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ สำหรับภาคใต้ยังมีฝนตกต่อเนื่องแฃะมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันออก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าวและดูแลระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังบริเวณแปลงปลูกเมื่อมีฝนตกหนัก

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ