พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 16 พฤศจิกายน 2559 - 22 พฤศจิกายน 2559

ข่าวทั่วไป Wednesday November 16, 2016 14:21 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 16 พฤศจิกายน 2559 - 22 พฤศจิกายน 2559

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 16 - 17 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย โดยมีฝนเล็กน้อย ส่วนมากทางตอนบนของภาคอุณหภูมิต่ำสุด 20-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 18 - 22 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาบางพื้นที่ โดยอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

  • ระยะนี้เป็นช่วงต้นฤดูหนาวอากาศจะแปรปรวน เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตร ในช่วงที่มีฝนตกน้อย
  • สำหรับไม้ผลที่ออกดอกในช่วงฤดูหนาว เช่น ลิ้นจี่ และลำไย เป็นต้น เกษตรกรควรกำจัดวัชพืชบริเวณโคนต้นให้โล่งเตียน เพื่อให้ดินแห้ง พืชเตรียมตัวแตกตาดอก เมื่อมีความหนาวเย็นยาวนานเพียงพอ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 16 - 17 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศา ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 18 - 22 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศา ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

  • เกษตรกรควรจัดเตรียมวัสดุและอุปกรณ์สำหรับกันหนาวเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน
  • เกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด และวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนตกน้อย
  • เกษตรกรควรเตรียมจัดทำแผงกำบังลมหนาวเพื่อป้องกันลมโกรกโรงเรือนให้แก่สัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสัตว์ที่ยังเล็กควรจัดเตรียมวัสดุและอุปกรณ์สำหรับเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือนเอาไว้ให้พร้อม เพื่อป้องกันสัตว์หนาวเย็น จนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 16 - 18 พ.ย. มีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 19-22 พ.ย. มีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

  • พื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด และวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตร ในช่วงแล้ง
  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • ระยะนี้เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 16 - 17 พ.ย. มีเมฆบางส่วนกับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 18-22 พ.ย. มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส

  • ระยะนี้เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งไม้ผล โดยตัดกิ่งที่ไขว้กัน กิ่งน้ำค้าง และกิ่งที่มีโรคและแมลงทำลาย รวมทั้งกำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แย่งน้ำและอาหารแก่ต้นพืช รวมทั้งเป็นแหล่งอาศัยหลบซ่อนของโรคและศัตรูพืช
  • ระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพได้

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตรบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส - เนื่องจากระยะนี้เป็นช่วงฤดูฝนของทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก ปริมาณและการกระจายของฝนจะเพิ่มขึ้น โดยจะมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยขุดลอกคูคลอง ทางระบายน้ำ ตลอดจนสันดอนปากแม่น้ำอย่าให้ตื้นเขิน น้ำไหลได้สะดวก

  • ไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งและขั้วผล แล้วทาแผลรอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้เปลือกและผลที่เน่าเสียกองอยู่ในบริเวณสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อราซึ่งมักระบาดในช่วงที่มีความชื้นสูง
  • ระยะนี้อากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนกาแฟควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราสนิมโรครากขาว และโรคแอนแทรกโนส เป็นต้น โดยดูแลสวนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นสะสมภายในสวน

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส

  • ไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งและขั้วผล แล้วทาแผลรอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้เปลือกและผลที่เน่าเสียกองอยู่ในบริเวณสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อราซึ่งมักระบาดในช่วงที่มีความชื้นสูง
  • ระยะนี้อากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนกาแฟควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราสนิมโรครากขาว และโรคแอนแทรกโนส เป็นต้น โดยดูแลสวนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นสะสมภายในสวน

รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตรในวันที่ 16 - 22 พฤศจิกายน 2559

ปริมาณฝนสะสมเดือน พฤศจิกายน (1-15) บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนตกสะสม 10-100 มม. เป็นส่วนใหญ่ ส่วนบริเวณที่มีปริมาณฝนสะสมมากกว่า 100 มม. คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคใต้ฝั่งตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนตกสะสม 0-100 มม.เป็นส่วนใหญ่ เป็นส่วนใหญ่ ส่วนบริเวณที่มีปริมาณฝนสะสม มากกว่า 100 มม. คือ ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง

ศักย์การคายระเหยน้ำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 20-30 มม. เป็นส่วนใหญ่ โดยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่างมีค่าศักย์การคายระเหยสะสมมากกว่าบริเวณอื่น

สมดุลน้ำ บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณสมดุลน้ำสะสม (-30)-( 40) มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างมีปริมาณสมดุลน้ำสะสม มากกว่า 100 มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านประเทศไทยตอนบนมีฝนตกและในช่วง 7 วันข้างยังคงมีฝนตกในบางพื้นที่ เกษตรกรควรกักเก็บน้ำด้านเกษตรกร เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงแล้ง เกษตรกรควร วางแผนการใช้น้ำเก็บกักให้มีประสิทธิภาพเพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้ง นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น ซึ่งศัตรูพืชดังกล่างจะกัดกินส่วนอ่อนของพืชทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ สำหรับภาคใต้ในระยะต่อไป ปริมาณและการกระจายของฝนจะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ