พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 14 พฤศจิกายน 2559 - 20 พฤศจิกายน 2559

ข่าวทั่วไป Monday November 14, 2016 15:13 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 14 พฤศจิกายน 2559 - 20 พฤศจิกายน 2559

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 14 - 17 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ส่วนมากทางตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 20-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 18 - 20 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาบางพื้นที่ โดยอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

  • ผลผลิตทางการเกษตร กลางวันท้องฟ้าโปร่งเหมาะกับการตากผลผลิตเพื่อลดความชื้นที่เปียกฝนในช่วงที่ผ่านมา แต่ไม่ควรตากผลผลิตไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะอาจเปียกชื้นเสียหาย เนื่องจากหมอก และน้ำค้าง
  • สัตว์เลี้ยง สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะทางตอนบนของภาคเกษตรกรควรดูแลโรงเรือนอย่าให้อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงรวดเร็วในระหว่างวัน เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยของสัตว์ โดยเฉพาะโรคหวัดในสัตว์ปีก
  • พืชสวน ระยะนี้มีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น ราแป้งในมะขามหวาน และราสนิมในกาแฟ เป็นต้น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงวันที่ 14 - 17 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อยอุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 18 - 20 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

  • ผลผลิตทางการเกษตร กลางวันท้องฟ้าโปร่งเหมาะกับการตากผลผลิตเพื่อลดความชื้นที่เปียกฝนในช่วงที่ผ่านมา แต่ไม่ควรตากผลผลิตไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะอาจเปียกชื้นเสียหาย เนื่องจากหมอก และน้ำค้าง สำหรับในช่วงวันที่ 18 – 20 พ.ย. จะมีฝนทางตอนล่างของภาค เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงตากผลผลิตในช่วงดังกล่าว
  • พืชผักสวนครัว ระยะนี้สภาพอากาศที่ความชื้น เนื่องจากหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น ราน้ำค้างในพืชตระกูลกะหล่ำ และโรคแอนแทรกโนสในตระกูลพริก-มะเขือ เป็นต้น

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 14 - 18 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 19-20 พ.ย. มีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

  • พื้นที่การเกษตร เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณฝนจะลดลง เกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทาน หากต้องการปลูกพืชรอบใหม่ ควรเลือกปลูกพืชที่มีระยะเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย เช่น พืชตระกูลถั่วและพืชผัก เป็นต้น
  • ผลผลิตทางการเกษตร ทางตอนบนของภาค กลางวันท้องฟ้าโปร่งเหมาะกับการตากผลผลิตเพื่อลดความชื้นที่เปียกฝนในช่วงที่ผ่านมา แต่ไม่ควรตากผลผลิตไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะอาจเปียกชื้นเสียหาย เนื่องจากหมอก และน้ำค้าง
  • สัตว์เลี้ยง ในช่วงนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรหมั่นสังเกตการเจ็บป่วยของสัตว์ หากพบสัตว์ป่วยควรแยกออกจากกลุ่ม และทำการรักษาโดยเฉพาะในสัตว์ปีก และสุกร อาจป่วยเป็นโรคหวัดได้

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 14 - 17 พ.ย. มีเมฆบางส่วนกับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 18-20 พ.ย. มีเมฆบางส่วน กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส

  • ไม้ผล แม้ระยะนี้ปริมาณฝนจะลดลงจากช่วงที่ผ่านมา แต่ความชื้นในดินยังคงมีอยู่ ชาวสวนผลไม้ควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าและโคนเน่า
  • พืชไร่/พืชผัก เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่และพืชผักที่จะกัดกินส่วนที่อ่อนทำให้ผลผลิตลดลง เกษตรกรจึงควรหมั่นสำรวจพื้นที่เพาะปลูก หากพบศัตรูพืชดังกล่าวควรรีบกำจัด เพื่อป้องกันการระบาดเป็นบริเวณกว้าง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝน ฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส

  • พื้นที่การเกษตร บริเวณทางฝั่งตะวันออกของภาคจะมีฝนตกต่อเนื่องและจะมีฝนตกหนักบางแห่ง พื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก
  • ยางพารา สภาพอากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนยางพารา ควรระวังและป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วง ลูกยางเน่า และโรคหน้ากรีดยาง เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง
  • กาแฟ ระยะนี้อากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราสนิมโรครากขาว และโรคแอนแทรกโนส เป็นต้น โดยดูแลสวนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นสะสมภายในสวน

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส

  • ยางพารา สภาพอากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนยางพารา ควรระวังและป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วง ลูกยางเน่า และโรคหน้ากรีดยาง เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง
  • กาแฟ ระยะนี้อากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราสนิมโรครากขาว และโรคแอนแทรกโนส เป็นต้น โดยดูแลสวนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นสะสมภายในสวน

หมายเหตุสมดุล (http://www.arcims.tmd.go.th/dailydata/PET7day.php)

รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตรในวันที่ 14- 20 พฤศจิกายน 2559

ปริมาณฝนสะสมเดือน พฤศจิกายน (1-13) บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนตกสะสม 20-100 มม. เป็นส่วนใหญ่ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน บริเวณจังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี และขอนแก่น รวมทั้งภาคใต้ตอนล่างที่มีปริมาณฝนสะสมมากกว่า 100 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนตกสะสม 20-100 มม.เป็นส่วนใหญ่ เป็นส่วนใหญ่ ส่วนบริเวณที่มีปริมาณฝนสะสม มากกว่า 100 มม. คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน บริเวณจังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี และขอนแก่นรวมทั้งภาคใต้ฝั่งตะวันออกบริเวณจังหวัด นครศรีธรรมราช พัทลุงและนราธิวาส

ศักย์การคายระเหยน้ำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 20-25 มม. เป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นบริเวณจังหวัดยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ระนอง ชุมพร สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีค่าศักย์การคายระเหยสะสม 25-30 มม.

สมดุลน้ำ บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณสมดุลน้ำสะสม (-20)-(100) มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนบริเวณจังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี และขอนแก่น รวมทั้งภาคใต้ฝั่งตะวันออกบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีปริมาณสมดุลน้ำสะสม มากกว่า 100 มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านประเทศไทยตอนบนมีฝนตกน้อยและในช่วง 7 วันข้างยังคงมีฝนตกน้อย เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำเก็บกักให้มีประสิทธิภาพเพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้ง และนอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น ซึ่งจะกัดกินส่วนอ่อนของพืชทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ สำหรับภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันออก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ