พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 09 พฤศจิกายน 2559 - 15 พฤศจิกายน 2559

ข่าวทั่วไป Wednesday November 9, 2016 15:00 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 09 พฤศจิกายน 2559 - 15 พฤศจิกายน 2559

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 9-10 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งอุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 11-15 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียสอุณหภูมิต่ำสุด 18-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

  • พื้นที่ทางการเกษตร เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงแล้ง เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงที่มีฝนตกน้อย
  • ไม้ผล สำหรับไม้ผลที่ออกดอกในฤดูหนาว เช่น ลิ้นจี่ และลำไย เป็นต้น เกษตรกรควรกำจัดวัชพืชบริเวณโคนต้นให้โล่งเตียน เพื่อให้ดินบริเวณโคนต้นแห้ง เมื่อมีความหนาวเย็นต่อเนื่องยาวนานเพียงพอจะทำให้พืชแตกตาดอกได้ดี
  • สัตว์เลี้ยง เกษตรกรควรจัดเตรียมวัสดุและอุปกรณ์สำหรับกันลมหนาวให้แก่สัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสัตว์ที่ยังเล็กควรเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือน ป้องกันสัตว์หนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 10-11 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับอากาศเย็นในตอนเช้า และมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 17-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส เซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 12-15 พ.ย. อากาศเย็นในตอนเช้า กับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศา ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

  • เกษตรกร ช่วงนี้เป็นต้นฤดูหนาวอากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ผลผลิตทางการเกษตร สำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้วหากเปียกฝน เกษตรกรควรลดความชื้นก่อนนำเข้าโรงเก็บ เพื่อป้องกันผลผลิตเน่าเสียหาย
  • พื้นที่การเกษตร เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงแล้ง เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนตกน้อย

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 9-10 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 11-15 พ.ย. มีอากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 20-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

  • ผลผลิตทางการเกษตร ผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้วหากเปียกฝนในระยะที่ผ่านมา เกษตรกรควรลดความชื้นก่อนนำเข้าโรงเก็บ เพื่อป้องกันผลผลิตเน่าเสียหาย
  • พื้นที่การเกษตร สำหรับบริเวณที่มีฝนตก เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตร เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงที่มีฝนตกน้อย ในระยะต่อไป
  • สัตว์เลี้ยง เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อย

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 9-10 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ส่วนในวันที่ 11-15 พ.ย. ทางตอนบนของภาคอากาศเย็นและมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส

  • พื้นที่การเกษตร เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงแล้ง เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนตกน้อย
  • ไม้ผล เกษตรกรที่ปลูกไม้ผลควรตัดแต่งกิ่ง โดยเลือกกิ่งที่ไขว้กัน กิ่งน้ำค้าง และกิ่งที่มีโรคและแมลงกัดกินไปทำลาย แล้วทาแผลรอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา
  • ยางพารา เกษตรกรควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในวันที่ 9-10 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะทางตอนบนของภาค ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1- 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ในวันที่ 11-15 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะทางตอนล่างของภาค ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส

  • พื้นที่การเกษตร ระยะนี้จะเป็นฤดูฝนของทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก ซึ่งทางตอนบนของภาคจะมีฝนมากกว่าบริเวณอื่น โดยจะมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยขุดลอกคูคลอง ทางระบายน้ำตลอดจนสันดอนปากแม่น้ำอย่าให้ตื้นเขิน
  • ไม้ผล สำหรับไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่ง และขั้วผล แล้วทาแผลรอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา และใส่ปุ๋ย เพื่อบำรุงต้นเพื่อให้ต้นฟื้นตัวได้เร็วมีเวลาพักตัวได้นาน
  • ชาวเรือและชาวประมง วันที่ 9- 12 พ.ย. บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งควรระวังความเสียหาย ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ในวันที่ 9-15 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส

  • พื้นที่การเกษตร จะมีฝนตกร้อยละ40-60 ของพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยขุดลอกคูคลอง ทางระบายน้ำตลอดจนสันดอนปากแม่น้ำอย่าให้ตื้นเขิน
  • ไม้ผล สำหรับไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่ง และขั้วผล แล้วทาแผลรอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา และใส่ปุ๋ย เพื่อบำรุงต้นเพื่อให้ต้นฟื้นตัวได้เร็วมีเวลาพักตัวได้นาน

รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตรในวันที่ 9 - 15 พฤศจิกายน 2559

ปริมาณฝนสะสมเดือน พฤศจิกายน (1-8) บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนตกสะสมต่ำกว่า 50 มม เป็นส่วนใหญ่ ส่วนบริเวณที่มีปริมาณฝนสะสมมากกว่า 50 มม. คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคกลางตอนล่าง สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนสะสม 25-200 มม. เป็นส่วนใหญ่

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยมีมีปริมาณฝนตกสะสมต่ำกว่า 100 มม.เป็นส่วนใหญ่ ส่วนบริเวณที่มีปริมาณฝนสะสม มากกว่า 100 มม. คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน สำหรับภาคใต้มีปริมาณสะสม 20-100 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่ทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีปริมาณสะสมเกิน 100 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาบริเวณประเทศไทยมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมอยู่ 20-30 มม. โดยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือด้สนตะวันออกมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมน้ำมากกว่าบริเวณอื่น

สมดุลน้ำ บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณสมดุลน้ำสะสมต่ำกว่า (-20)-(40) มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีปนิมาณสมดุลน้ำสะสมมากกว่า 100 มม. ส่วนภาคใต้มีปริมาณสมดุลน้ำสะสม 1-100มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่บริเวณทางตอนบนของภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีสมดุบน้ำสะสมเกิน 100 มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านประเทศไทยตอนบนมีฝนตกและในช่วง7วันข้างหน้าจะยังมีฝน เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านเกษตรเพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงที่มีฝนตกน้อย เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงแล้ง นอกจากนี้เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำใช้ในช่วงหน้าแล้ง นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบดต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ สำหรับภาคใต้ระยะต่อไปจะเป็นช่วงฤดูฝนของทางภาคใต้ฝั่งตะวันออกซึ่งจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ