พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 21 ธันวาคม 2559 - 27 ธันวาคม 2559

ข่าวทั่วไป Wednesday December 21, 2016 13:57 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 21 ธันวาคม 2559 - 27 ธันวาคม 2559

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 23-25 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิจะเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย อุณหภูมิต่ำสุด 16-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 6-14 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 26-27 ธ.ค. อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 14-18 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-31 องศาเซลเซียสบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม. /ชม.

  • ระยะนี้จะมีอากาศหนาวเย็น โดยทางตอนบนของภาคจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าทางตอนล่างของภาค เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ รวมทั้งระวังและป้องกันโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
  • สำหรับในบางช่วงจะมีหมอกกับมีหมอกหนา และมีน้ำค้าง ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคราน้ำค้าง ในพืชไร่ ไม้ดอก และพืชผัก ซึ่งจะทำให้ ผลผลิตเสียหายและด้อยคุณภาพ
  • เนื่องจากในช่วงฤดูหนาวอากาศจะจมตัว เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการจุดไฟ เผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพราะควันไฟจะไม่สามารถลอยขึ้นไปในบรรยากาศแต่จะแผ่ปกคลุมบริเวณใกล้เคียง เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และทำให้ทัศนวิสัยลดลงส่งผลกระทบต่อการสัญจร

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 22-25 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 17-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-14 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 26-27 ธ.ค. อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 15-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 7-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ
  • เกษตรกรควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • ระยะนี้ปริมาณน้ำระเหยมีมาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นในดิน

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 22-25 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิจะเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 26-27 ธ.ค. อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 20-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

  • เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง พื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด โดยให้น้ำพืชครั้งละน้อยๆแต่บ่อยครั้ง และหากปฏิบัติได้ควรให้น้ำในช่วงเย็นและค่ำ เพื่อลดการสูญเสียน้ำโดยการระเหย และวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงแล้ง
  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกัน สัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย รวมทั้งควรหมั่นสังเกตหากพบสัตว์ป่วยควรรีบแยกออกจากกลุ่ม และทำการรักษา เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ไปยังตัวอื่น รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่วยและสารคัดหลั่งจากสัตว์โดยตรง หากมีความจำเป็นควรสวมถุงมือยางทุกครั้ง

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 22-25 ธ.ค. มีหมอกบางและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง และอุณหภูมิจะเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ในช่วงวันที่ 26-27 ธ.ค. อากาศเย็น และอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-31 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

  • สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะแทงช่อดอก เช่น เงาะ ทุเรียน มังคุด และลองกอง เป็นต้น เกษตรกรควรงดให้น้ำ รอจนเห็นดอกที่ชัดเจนแล้วจึงค่อยให้น้ำโดยให้ในปริมาณที่น้อยก่อนแล้วค่อยเพิ่มปริมาณขึ้น รวมทั้งระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรต่างๆซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืช ทำให้ตาดอกเหี่ยวแห้งการออกดอกลดลง
  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ในช่วงที่อุณหภูมิลดลง เกษตรกรควรลดอาหาร เนื่องจากอุณหภูมิที่ลดลงสัตว์น้ำจะกินอาหารได้น้อยลงอาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสีย สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย รวมทั้งควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อให้น้ำผสมเป็นเนื้อเดียวกัน และการเปิดเครื่องตีน้ำจะเป็นการเพิ่ม ออกซิเจนในน้ำด้วย

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 21-22 ธ.ค. อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

  • ทางตอนบนของภาคจะมีอากาศเย็น เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • ทางตอนล่างของภาคจะมีฝนกับฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
  • ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกัน ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง และโรคราสีชมพู เป็นต้น โดยดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นสะสมภายในสวน -ชาวสวนผลไม้ ไม่ควรปล่อยให้น้ำขังในบริเวณโคนต้นพืชเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศต้นพืชตายได้ และระวังป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล และโรคใบติดในทุเรียน เป็นต้น โดยเก็บกวาดใบและกิ่งที่เป็นโรคหรือแมลง ทำลายไปเผาหรือฝังให้ลึก เพื่อไม่ให้เชื้อโรคสามารถแพร่กระจายได้

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-33 องศาเซลเซียส

  • ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกัน ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง และโรคราสีชมพู เป็นต้น โดยดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นสะสมภายในสวน
  • ชาวสวนผลไม้ ไม่ควรปล่อยให้น้ำขังในบริเวณโคนต้นพืชเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศต้นพืชตายได้ และระวังป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล และโรคใบติดในทุเรียน เป็นต้น โดยเก็บกวาดใบและกิ่งที่เป็นโรคหรือแมลง ทำลายไปเผาหรือฝังให้ลึก เพื่อไม่ให้เชื้อโรคสามารถแพร่กระจายได้

รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตรในวันที่ 21 - 27 ธันวาคม 2559

ปริมาณฝนสะสมเดือนธันวาคม ( 1-20 ธ.ค.) ประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 25 มม. เป็นส่วนใหญ่ สำหรับภาคใต้มปริมาณฝนสะสม 50-1,000 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมน้อย ซึ่งปริมาณฝนสะสมมีปริมาณ 5-20 มม. สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนสะสม 20-300 มม.เป็นส่วนใหญ่ โดยภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบนจะมีปริมาณฝนสะสมน้อยที่สุดและตอนล่างมากที่สุด

ศักย์การคายระเหยน้ำ บริเวณประเทศไทยมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 15-25 มม.

สมดุลน้ำ บริเวณประเทศไทยตอนบนมีค่าเป็นลบเป็นส่วนใหญ่ โดยมีค่าสมดุลน้ำสะสม(-10)(-30) มม. สำหรับบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกส่วนใหญ่มีค่าสมดุลน้ำเป็นบวกเนื่องจากมีฝนตกหนัก โดยมีค่าสมดุลน้ำสะสม 10-100 มม. โดยบริเวณภาคใต้ตอนบนมีค่าสมดุลน้ำเป็นลบและทางตอนล่างของภาคมีค่าสมดุลน้ำเป็นบวกมากที่สุดคือ 150-300 มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาประเทศไทยตอนบนมีฝนตกเล็กน้อยซึ่งมีค่าน้อยกว่าการคายระเหยของน้ำ ทำให้ค่าสมดุลน้ำเป็นลบ และค่าสมดุลน้ำเป็นลบ และในช่วง 7 วันข้างหน้าจะมีฝนน้อย ดังนั้นเกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชอย่างเพียงพอและคลุมพื้นที่บริเวณแปลงปลูกที่ปลูกด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดินรักษาความชื้นภายในดิน สำหรับภาคใต้เฉพาะฝั่งตะวันออกจะยังคงมีฝน พื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วม เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกอย่าให้มีน้ำท่วมขังบริเวรโคนต้นพืชนาน เพราะจะทำให้รากพืชเน่าต้นพืชตายได้ รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชส่วนและพืชผัก

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ