พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 13 มกราคม 2560 - 19 มกราคม 2560

ข่าวทั่วไป Friday January 13, 2017 15:23 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 13 มกราคม 2560 - 19 มกราคม 2560

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 13 -14 ม.ค. 60 อากาศเย็น โดยมีฝนร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 23-30 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 9-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม. /ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 15-19 ม.ค. 60 อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 3-6 องศาเซลเซียสอุณหภูมิต่ำสุด 15-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-29 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 6-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

  • เกษตรกร ในช่วงที่อุณหภูมิลดลง เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ และดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • พื้นที่การเกษตร เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เนื่องจากในช่วงฤดูหนาวอากาศจะจมตัว ควันไฟไม่สามารถลอยขึ้นไปในอากาศได้ แต่จะลอยปกคลุมบริเวณใกล้เคียง เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และทำให้ทัศนวิสัยลดลง เป็นอันตรายต่อการสัญจร
  • ไม้ผล สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะออกดอก เช่น ลิ้นจี่ และลำไย เกษตรกรควรงดให้น้ำรอจนเห็นดอกที่ชัดเจนและเพียงพอแล้วจึงค่อยให้น้ำ โดยให้น้ำในปริมาณที่น้อยๆก่อนแล้วค่อยๆเพิ่มปริมาณขึ้น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในวันที่ 13 -14 ม.ค. 60 อากาศเย็น โดยมีฝนร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 10-12 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 15-19 ม.ค. 60 อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 16-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 10-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม.

  • เกษตรกร ในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • พื้นที่การเกษตร ระยะนี้ปริมาณฝนมีน้อย เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการเหยของน้ำจากบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน
  • สัตว์น้ำ ในช่วงที่อุณหภูมิลดลง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรลดปริมาณอาหาร เนื่องจากอุณหภูมิต่ำสัตว์น้ำจะกินอาหารได้น้อยลง อาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสีย ส่งผลให้สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 13-15 ม.ค. 60 อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 16-17 ม.ค. 60 จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค หลังจากนั้น ฝนจะลดลง อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม.

  • พื้นที่การเกษตร เกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด โดยให้น้ำพืชครั้งละน้อยๆแต่บ่อยครั้งและควรให้น้ำพืชในช่วงเย็นและค่ำ เพื่อลดการสูญเสียน้ำโดยการระเหย
  • พื้นที่การเกษตร สำหรับ เกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ ควรมีน้ำสำรองเอาไว้ให้พืชในระยะเจริญเติบโต โดยเฉพาะในระยะผลิดอกออกผลเป็นช่วงที่พืชต้องการน้ำมากกว่าระยะอื่นๆ หากพืชได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโตผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ หากขาดน้ำจะทำให้สูญเสียผลผลิตโดยสิ้นเชิง

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 13-15 ม.ค. 60 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-32 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 16 -19 ม.ค. 60 อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส

  • พื้นที่การเกษตร ระยะนี้ยังคงมีฝนตกไม่เสม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ
  • ทุเรียน สำหรับฝนที่ตกในระยะนี้จะส่งผลกระทบต่อทุเรียนที่อยู่ในระยะติดผลอ่อนคือทำให้แตกยอดอ่อนและจะแย่งอาหารจากผลอ่อน เกษตรกรควรฉีดพ่นด้วยสารยับยั้งการแตกใบอ่อน เพื่อป้องกันผลอ่อนร่วงหล่น หรือชะงักการ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 13-15 ม.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ในช่วงวันที่ 16 -19 ม.ค. 60 มีเมฆเป็นส่วนมากกับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส

  • พื้นที่การเกษตร สำหรับพื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมา หากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม หากพบต้นไม้ที่ล้มเอนควรผูกยึดให้ตั้งตรง ถ้ามีแผลควรตัดแต่งแผลและทำความสะอาด แล้วทาด้วยสารป้องกันเชื้อรา
  • เกษตรกร พื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมา เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของ โรคที่เกิดหลังน้ำลด เช่น โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โรคตาแดง และน้ำกัดเท้า เป็นต้น
  • ไม้ผล แม้ปริมาณฝนจะลดลง แต่ปริมาณน้ำในดินยังคงมีอยู่ ชาวสวนผลไม้ควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่า ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหายและตายได้
  • ประมงชายฝั่ง ในช่วงวันที่ 16-19 ม.ค. บริเวณอ่าวไทย จะมีคลื่นลมแรงโดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ในช่วงวันที่ 13-15 ม.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ลมตะวันตก ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตรส่วนในช่วงวันที่ 16-19 ม.ค. 60 เมฆเป็นส่วนมากกับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส

  • พื้นที่การเกษตร สำหรับพื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมา หากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม หากพบต้นไม้ที่ล้มเอนควรผูกยึดให้ตั้งตรง ถ้ามีแผลควรตัดแต่งแผลและทำความสะอาด แล้วทาด้วยสารป้องกันเชื้อรา
  • เกษตรกร พื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมา เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของ โรคที่เกิดหลังน้ำลด เช่น โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โรคตาแดง และน้ำกัดเท้า เป็นต้น
  • ไม้ผล แม้ปริมาณฝนจะลดลง แต่ปริมาณน้ำในดินยังคงมีอยู่ ชาวสวนผลไม้ควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่า ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหายและตายได้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ