พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 10 มีนาคม 2560 - 16 มีนาคม 2560

ข่าวทั่วไป Friday March 10, 2017 14:41 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 10 มีนาคม 2560 - 16 มีนาคม 2560

ภาคเหนือ

ทางตอนบนของภาคอากาศเย็นในตอนเช้า โดยมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน เกือบตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 17-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียสลมตะวันตก ความเร็ว 10-25 กม. /ชม.

  • เกษตรกร เนื่องจากระยะนี้เป็นช่วงต้นฤดูร้อน อุณหภูมิต่ำสุดและอุณหภูมิสูงสุดแตกต่างกันมาก โดยในตอนกลางคืนอากาศเย็น ส่วนในตอนกลางวันอากาศร้อน เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • พื้นที่การเกษตร เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงแล้ง ปริมาณและการกระจายของฝนจะมีน้อย เกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด และวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงฤดูร้อน
  • ไม้ผล สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล เช่น ลิ้นจี่และลำไย เกษตรกรควรดูแลให้น้ำอย่างเพียงพอ เพราะหากขาดน้ำจะทำให้ผลชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิต ด้อยคุณภาพ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 11-13 มี.ค. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 14-16 มี.ค. 60 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมาก ทางตะวันออกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

  • พื้นที่การเกษตร ระยะนี้อุณหภูมิอากาศสูงในตอนกลางวันทำให้ผิวดินมีอุณหภูมิสูงขึ้น ส่งผลให้น้ำระเหยจากผิวดินมาก เกษตกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นในดิน และอุณหภูมิดิน
  • พืชไร่/ไม้ผล/พืชผัก เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่นเพลี้ยและไรต่างๆ ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นพืชทำให้พืชทรุดโทรม ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ
  • เกษตรกร ระยะนี้มีแดดจัด เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน หากมีความจำเป็นต้องทำงานกลางแจ้ง ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด เพื่อป้องกันผิวไหม้เกรียม และควรดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ

ภาคกลาง

อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน เกือบตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

  • สัตว์เลี้ยง เนื่องจากระยะนี้อุณหภูมิสูงขึ้นในตอนกลางวัน เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ในโรงเรือนควรลดอุณหภูมิภายในโรงเรือน โดยนำวัสดุอุ้มน้ำชุบน้ำแล้วนำไปไว้ในโรงเรือน เนื่องจากเมื่อน้ำระเหยจะเอาความร้อนออกไปด้วย ทำให้อุณหภูมิรอบข้างลดลง หรือฉีดน้ำบริเวณหลังคาก็จะช่วยลดความร้อนในโรงเรือนลงได้
  • สัตว์น้ำ เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ควรดูแลจำนวนสัตว์น้ำที่เลี้ยงให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ หากปริมาณน้ำมีน้อย สัตว์น้ำจะอยู่อย่าแออัดส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • พื้นที่การเกษตร เนื่องจากระยะนี้มีแดดจัดในตอนกลางวัน สำหรับพืชที่ปลูกใหม่และพืชต้นอ่อน เกษตรกรควรพรางแสงให้แก่ต้นพืช เพื่อลดความเข้มของแสง ลดอุณหภูมิบริเวณทรงพุ่ม ส่งผลให้การคายระเหยของน้ำลดลง ป้องกันพืชเหี่ยวเฉา

ภาคตะวันออก

ในวันที่ 11-13 มี.ค.60 อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ส่วนในช่วงวันที่ 14-16 มี.ค. 60 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่อุณหภูมิต่ำสุด 25-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

  • พริกไทย สำหรับผลผลิตที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว หากเปียกฝนในระยะที่ผ่านมาโดยสามารถนำออกตากแดดได้ในระยะนี้ เกษตรกรควรลดความชื้นก่อนนำเข้าโรงเก็บ เพื่อป้องกันผลผลิตเน่าเสียหาย
  • สัตว์น้ำ ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยง ระยะนี้ควรทำร่มเงาให้แก่สัตว์น้ำโดยเฉพาะบ่ออนุบาล เพื่อป้องกันอุณหภูมิของน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อาจชะงักการเจริญเติบโต อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • พืชไร่/ไม้ผล/พืชผัก เนื่องจากสภาพอากาศแห้ง เกษตรกรที่ปลูกพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรต่างๆ ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ต้นพืช ชะงักการเจริญเติบโต

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร

  • ไม้ผล เนื่องจากสภาพอากาศแห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรต่างๆ โดยเฉพาะ เพลี้ยไฟ และเพลี้ยไก่แจ้ ในทุเรียน ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ต้นพืชทรุดโทรม การผลิดอกออกผลลดลง และต้นพืชที่ปลูกใหม่อาจตายได้
  • กาแฟ ระยะนี้เป็นช่วงฤดูร้อน ชาวสวนกาแฟควรระวังและป้องกัน เพลี้ย ต่างๆ เช่น เพลี้ยอ่อน และเพลี้ยหอย เป็นต้น รวมทั้งโรคใบจุด โดยเก็บกวาดใบและส่วนของพืชที่เป็นโรคหรือศัตรูพืชทำลายไปกำจัด โดยเผาหรือฝังให้ลึก เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช
  • ยางพารา เกษตรกรที่ปลูกยางพาราควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่เพาะปลูก อาคารบ้านเรือน และโรงเก็บพืชผลทางด้านการเกษตร รวมทั้งหลีกเลี่ยงการจุดไฟหากมีความจำเป็นต้องจุดไฟควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

  • กาแฟ ระยะนี้เป็นช่วงฤดูร้อน ชาวสวนกาแฟควรระวังและป้องกัน เพลี้ย ต่างๆ เช่น เพลี้ยอ่อน และเพลี้ยหอย เป็นต้น รวมทั้งโรคใบจุด โดยเก็บกวาดใบและส่วนของพืชที่เป็นโรคหรือศัตรูพืชทำลายไปกำจัด โดยเผาหรือฝังให้ลึก เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช
  • ยางพารา เกษตรกรที่ปลูกยางพาราควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่เพาะปลูก อาคารบ้านเรือน และโรงเก็บพืชผลทางด้านการเกษตร รวมทั้งหลีกเลี่ยงการจุดไฟหากมีความจำเป็นต้องจุดไฟควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ