พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 12 เมษายน 2560 - 18 เมษายน 2560

ข่าวทั่วไป Wednesday April 12, 2017 15:21 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 12 เมษายน 2560 - 18 เมษายน 2560

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 12-15 เม.ย. อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่งและลูกเห็บตกบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 16-18 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตะวันตกของภาคอุณหภูมิต่ำสุด 24-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

  • ผลผลิตทางการเกษตรในช่วงวันที่ 12-15 เม.ย. จะมีพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง เกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดกับอาคารบ้านเรือนและพืชผลทางการเกษตร ผลผลิตที่แก่ดีแล้วควรรีบเก็บเกี่ยว บริเวณที่มีฝนตก เกษตรกรควรกักเก็บน้ำไว้ใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนตกน้อย อนึ่ง สำหรับหลายพื้นที่ซึ่งมีอากาศร้อน เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน หากมีความจำเป็นต้องทำงานกลางแจ้ง ควรสวมหมวกและเสื้อผ้าที่ป้องกันแสงแดด และดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
  • ไม้ผลเนื่องจากระยะนี้ยังคงมีฝนตกน้อยและมีอากาศร้อน ทำให้ปริมาณการคายระเหยน้ำมีมาก ชาวสวนผลไม้ เช่น ลำไย ควรดูแลให้น้ำแก่พืชตามความเหมาะสมและควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูก เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาอุณหภูมิดิน และสงวนความชื้นภายในดิน รวมทั้งควรระวังป้องกันการระบาดของศัตรูพืช เช่น หนอนเจาะขั้วผลและมวนลำไย เป็นต้น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 12-14 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่กับมีลมกระโชกแรงบางแห่งและลูกเห็บตกบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 15-18 เม.ย. อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตะวันตกและตอนบนของภาคอุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

  • สัตว์เลี้ยงระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองสลับกับอากาศร้อนขึ้นในตอนกลางวัน อาจทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและติดเชื้อโรคได้ง่าย เกษตรกรจึงควรดูแลสัตว์เลี้ยงให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง จะได้ไม่เจ็บป่วย จัดหาน้ำดื่มที่สะอาดให้กับ สัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่โลงแจ้งเวลามีฝนฟ้าคะนอง
  • ผลผลิตการเกษตร ในช่วงวันที่ 12-14 เม.ย. จะมีพายุฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง เกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดกับอาคารบ้านเรือนและพืชผลทางการเกษตร ผลผลิตที่แก่ดีแล้วควรรีบเก็บเกี่ยว ส่วนบริเวณที่มีฝนตก เกษตรกรควรกักเก็บน้ำไว้ใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนตกน้อย นอกจากนี้เกษตรกรควรระมัดระวังความเสียหายที่อาจจะเกิดกับผลผลิตพืชผักและไม้ดอกที่เก็บเกี่ยวและรอขนส่งเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นในระยะนี้

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 12-15 เม.ย. อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.ส่วนในวันที่ 16-18 เม.ย. อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตะวันตกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 26-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

  • พื้นที่การเกษตรในช่วงวันที่ 12-15 เม.ย. อากาศร้อน และมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง เกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดกับอาคารบ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตร แต่เนื่องจากปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย เกษตรกรควรให้น้ำเพิ่มเติมอย่างเหมาะสม และใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด โดยให้น้ำพืชในช่วงเย็นเพื่อลดการสูญเสียน้ำจากการระเหยของน้ำ รวมทั้งคลุมดินบริเวณแปลงปลูก และโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
  • สัตว์เลี้ยงระยะนี้จะมีอากาศร้อน เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ปีกควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของสัตว์เลี้ยง และไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่กันหนาแน่นเกินไป รวมทั้งจัดหาน้ำดื่มให้กับสัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันสัตว์เครียด อ่อนแอ และเจ็บป่วยได้ง่าย

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 12-14 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ส่วนในวันที่ 15-18 เม.ย. อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

  • ผลผลิตทางการเกษตรในช่วงวันที่ 12-14 เม.ย. จะมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง เกษตรกรควรระวังความเสียหายกับพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผลและผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยว เช่น ทุเรียนและมังคุด เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ผลปริแตก ร่วงหล่นเสียหายได้
  • สัตว์น้ำระยะนี้จะมีอากาศร้อนและมีแสงแดดจัด ประกอบอัตราการระเหยน้ำสูง ซึ่งจะส่งผลให้อุณหภูมิน้ำเพิ่มสูงขึ้นและปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำจะลดลง อาจทำให้เกิดการแบ่งชั้นของน้ำ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรหมั่นสังเกตและจัดการคุณภาพน้ำให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

  • พื้นที่การเกษตรช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบางพื้นที่ ทำให้มีปริมาณน้ำสะสมในดินมาก และในระยะนี้จะมีปริมาณฝนลดลง พื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วมขังในระยะที่ผ่านมา เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูก และปรับสภาพสวนให้กลับมาใช้ได้ดังเดิม
  • ไม้ผลระยะนี้สภาพอากาศชื้น สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะผลอ่อน ชาวสวนควรหมั่นสำรวจและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนชนิดต่างๆ ซึ่งจะกัดกินทำให้ผลผลิตเสียหายได้

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ในช่วงวันที่ 12-15 เม.ย.มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 16-18 เม.ย. จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

  • พื้นที่การเกษตรช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบางพื้นที่ ทำให้มีปริมาณน้ำสะสมในดินมาก และในระยะนี้จะมีปริมาณฝนลดลง พื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วมขังในระยะที่ผ่านมา เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูก และปรับสภาพสวนให้กลับมาใช้ได้ดังเดิม
  • ไม้ผลระยะนี้สภาพอากาศชื้น สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะผลอ่อน ชาวสวนควรหมั่นสำรวจและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนชนิดต่างๆ ซึ่งจะกัดกินทำให้ผลผลิตเสียหายได้
  • ประมงชายฝั่งในช่วงวันที่ 15-18 เม.ย. ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง ส่วนเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ