พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 17 เมษายน 2560 - 23 เมษายน 2560

ข่าวทั่วไป Monday April 17, 2017 13:22 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 17 เมษายน 2560 - 23 เมษายน 2560

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 17-18 เม.ย.อากาศร้อนในตอนกลางวัน และมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตะวันตกของภาคอุณหภูมิต่ำสุด 20-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-39 องศาเซลเซียสส่วนในช่วงวันที่ 19-23 เม.ย.อากาศร้อนถึงร้อนจัดในตอนกลางวันกับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

  • พืชไร่/ไม้ผล/พืชผัก ระยะนี้มีฝนตกสลับกับอากาศร้อนในบางวัน ผู้ที่ปลูกพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชทรุดโทรม ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
  • พื้นที่การเกษตร แม้จะมีฝนตกแต่ปริมาณและการกระจายมีน้อยและไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในช่วงฤดูฝนนี้ควรรอให้มีฝนตกสม่ำเสมอและดินมีความชื้นเพียงพอจึงค่อยลงมือปลูก เพื่อป้องกันพืชที่ปลูกขาดน้ำในช่วงเจริญเติบโต ส่งผลให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง
  • สัตว์น้ำ ในช่วงที่มีฝนตก เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกใหม่ควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้นและเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 17-20 เม.ย. อากาศร้อนถึงร้อนจัดในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตะวันตกและตอนบนของภาค หลังจากนั้นฝนจะลดลง อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

  • พื้นที่การเกษตร ระยะนี้การคายระเหยน้ำมีมากประกอบกับปริมาณฝนที่ตกมีน้อย และแสงแดดจัด ทำให้อุณหภูมิดินสูง ความชื้นในดินลดลง เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อรักษาอุณหภูมิดิน และสงวนความชื้นภายในดิน
  • สัตว์เลี้ยง เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ในระยะนี้ควรจัดหาน้ำกินให้กับสัตว์เลี้ยงเพิ่มเติมเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนทำให้สัตว์มีความต้องการน้ำมากขึ้น รวมทั้งฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่จะเกิดกับสัตว์เลี้ยงในช่วงฤดูร้อน
  • เกษตรกร ระยะนี้มีแดดจัด เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน หากมีความจำเป็นต้องทำงานกลางแจ้ง ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด เพื่อป้องกันผิวไหม้เกรียม และดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อป้องกันร่างการขาดน้ำ

ภาคกลาง

ในวันที่ 17-18 เม.ย. อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ทางตะวันตกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.ส่วนในช่วงวันที่ 19-23 เม.ย. อากาศร้อนถึงร้อนจัดในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

  • สัตว์เลี้ยง เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อน เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้กับสัตว์โดยนำวัสดุอุ้มน้ำชุบน้ำแล้วนำไปใว้ในโรงเรือน หรือฉีดน้ำเป็นฝอย หากมีน้ำเพียงพอควรฉีดน้ำบริเวณหลังคาก็จะช่วยลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนลงได้ เนื่องจากขณะที่น้ำระเหยจะเอาความร้อนออกไปด้วย
  • พื้นที่การเกษตร ระยะนี้ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย เกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด โดยให้น้ำพืชครั้งละน้อยๆแต่บ่อยครั้งและควรให้น้ำพืชในช่วงเย็น เพื่อลดอัตราการสูญเสียน้ำโดยการระเหย รวมทั้งควรวางแผนการใช้นำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงแล้ง
  • สัตว์น้ำ สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในระยะนี้ควรดูแลจำนวนสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำหากปริมาณน้ำมีน้อยจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน และสัตว์น้ำจะอยู่อย่างแออัด ส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออก

ในวันที่ 17 เม.ย. อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-38 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 18-23 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

  • พื้นที่การเกษตร เกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึง ควรเตรียมดินเอาไว้ให้พร้อม รอจนกว่าจะมีจะมีฝนตกสม่ำเสมอแล้วค่อยลงมือปลูก เพื่อป้องกันพืชขาดน้ำในช่วงจริญเติบโต ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ
  • พืชไร่/ไม้ผล/พืชผัก เนื่องจากฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอ สลับกับมีอากาศร้อนในบางช่วง เกษตรกรที่ปลูกพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตเสียหาย และด้อยคุณภาพ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

  • พื้นที่การเกษตร เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบางพื้นที่โดยเฉพาะทางตอนล่างของภาคซึ่งทำให้ดินมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงแดดส่องได้ถึงพื้นดิน เพื่อลดความชืนภายในแปลงปลูก
  • สัตว์น้ำ สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงหลังจากฝนตกใหม่ควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อให้น้ำผสมเป็นเนื้เดียวกันป้องกันน้ำแยกชั้นและเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 17-18 เม.ย. ตั้งแต่จ.ภูเก็ตขึ้นมา: ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม. /ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 20-23 เม.ย. ลมตะวันตก ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

  • พื้นที่การเกษตร เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบางพื้นที่โดยเฉพาะทางตอนล่างของภาคซึ่งทำให้ดินมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงแดดส่องได้ถึงพื้นดิน เพื่อลดความชืนภายในแปลงปลูก
  • สัตว์น้ำ สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงหลังจากฝนตกใหม่ควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อให้น้ำผสมเป็นเนื้เดียวกันป้องกันน้ำแยกชั้นและเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • ประมงชายฝั่ง ในช่วงวันที่ 17- 18 เม.ย. บริเวณทะเลอันดามันตอนบนจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ