พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 02 มิถุนายน 2560 - 08 มิถุนายน 2560

ข่าวทั่วไป Friday June 2, 2017 15:29 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 02 มิถุนายน 2560 - 08 มิถุนายน 2560

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 2-4 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนมากทางด้านตะวันตกและตอนล่างของภาค ในช่วงวันที่ 5-8 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

  • พื้นที่การเกษตร ในช่วงวันที่ 2-4 มิ.ย. ปริมาณฝนจะลดลง สำหรับพื้นที่การเกษตรซึ่งเกิดน้ำท่วมขัง เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูก ไม่ให้มีน้ำท่วมขังโคนต้นพืชนาน เพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศต้นพืชตายได้ ส่วนในช่วงวันที่ 5-8 มิ.ย. จะมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง แปลงนาข้าวที่อยู่ในที่ลุ่มบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ชาวนาควรเสริมคันนาเพื่อป้องกันน้ำหลากท่วมนาข้าว และเตรียมเครื่องสูบให้พร้อมใช้งาน
  • สัตว์เลี้ยง ฝนที่ตกต่อเนื่องในระยะนี้ทำให้อากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรดูแลโรงเรือนให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ให้อับชื้นเพี่อป้องกันสัตว์อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคหวัดในสัตว์ปีกและสุกร รวมทั้งให้วัคซีนป้องกันโรคแก่สัตว์เลี้ยง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 2-4 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนของภาค ในช่วงวันที่ 5-8 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • ข้าวนาปี ระยะนี้ปริมาณฝนจะลดลง สำหรับแปลงนาในพื้นที่ซึ่งมีฝนตกหนักในระยะที่ผ่านมา เกษตรกรควรรีบระบายน้ำส่วนที่เกินออกจากแปลงนา โดยรักษาระดับน้ำให้เหมาะสมกับความสูงของต้นกล้าเพื่อป้องกันต้นกล้าเน่าเสีย นอกจากนี้สภาพอากาศที่มีความชื้นสูงอาจชักนำให้เกิดการระบาดของโรคไหม้ ดังนั้นชาวนาควรหมั่นสำรวจแปลงนา หากพบควรรีบกำจัด
  • สัตว์เลี้ยง เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะบริเวณตอนบนของภาค ไม่ควรปล่อยให้สัตว์อยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะสัตว์เท้ากีบ เช่น โคและกระบือ ซึ่งอาจเป็นโรคปากและเท้าเปื่อยได้

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 2-4 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ในช่วงวันที่ 5-8 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • พื้นที่การเกษตร สำหรับพื้นที่การเกษตรที่มีน้ำท่วมขัง เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงเพาะปลูกอย่าให้น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศจนต้นพืชยืนต้นตายได้ และควรรีบพื้นฟูสภาพสวนให้กลับมาใช้ได้ดีดังเดิม รวมทั้งดูแลระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูกเป็นเวลานานเมื่อมีฝนตกหนัก
  • พืชไร่ ระยะนี้สภาพแวดล้อมทั้งดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชไร่ช่วงต้นฤดูฝน เช่น อ้อย และมันสัมปะหลัง เป็นต้น ควรเลือกท่อนพันธุ์ที่ปลอดโรคและชุบท่อนพันธุ์ด้วยสารป้องกันเชื้อราก่อนปลูก รวมทั้งควรจัดทำระบบระบายน้ำในแปลงปลูกเพื่อป้องกันน้ำท่วมขังไว้ด้วย

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 2-4 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1- 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ในช่วงวันที่ 5-8 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส

  • ไม้ผล ระยะนี้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มได้ เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืชนาน ทำให้รากพืชขาดอากาศ ต้นพืชตายได้ รวมทั้งระวังโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่า และโคนเน่า ส่วนไม้ผลที่อยู่ในระยะผลแก่และเก็บเกี่ยว ควรระวังป้องกันโรคผลเน่าในทุเรียน เงาะ และลองกอง เป็นต้น
  • พืชไร่ ระยะนี้ดินและอากาศมีความชื้นสูง ซึ่งอาจทำให้เกิดการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราน้ำค้างในข้าวโพด โรคหัวมันเน่าในมันสำปะหลัง และโรคเน่าคอดินในพริกไทย เป็นต้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงปลูกหากพบควรรีบกำจัด รวมทั้งจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำขังบริเวณแปลงปลูกเมื่อมีฝนตกหนัก

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 2-4 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ในช่วงวันที่ 5-8 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส

  • ไม้ผล สำหรับสภาพอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงแดดส่องได้ถึงบริเวณโคนต้น เพื่อป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่า ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย รวมทั้งระวังศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินทำให้ผลผลิตเสียหาย
  • ชาวประมง ในช่วงวันที่ 5 – 8 มิ.ย. ชาวเรือและชาวประมงบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ในช่วงวันที่ 2-4 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ในช่วงวันที่ 5-8 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส

  • พื้นที่การเกษตร ระยะนี้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรได้ โดยเฉพาะบริเวณที่ลาดเชิงเขา และพื้นที่ลุ่ม เกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดกับพืชผลการเกษตร โดยการจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูกเป็นเวลานานทำให้รากพืชขาดอากาศต้นพืชตายได้
  • ไม้ผล สำหรับสภาพอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงแดดส่องได้ถึงบริเวณโคนต้น เพื่อป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่า ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย รวมทั้งระวังศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินทำให้ผลผลิตเสียหาย
  • ชาวประมง ในช่วงวันที่ 5 – 8 มิ.ย. ชาวเรือและชาวประมงบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ