พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 17 - 23 มกราคม พ.ศ. 2561

ข่าวทั่วไป Wednesday January 17, 2018 13:50 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 17-23 มกราคม พ.ศ. 2561

ออกประกาศวันพุธที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2561

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 8/61

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 17-19 ม.ค. 61 ประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียสกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ แต่ยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวโดยทั่วไปบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 20-23 ม.ค. 61 ประเทศไทยตอนบนมีหมอกในตอนเช้า โดยจะมีฝนฟ้าคะนอง บางแห่ง แต่ยังคงมีอากาศเย็นโดยทั่วไปในบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับภาคใต้จะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้นกับฝนตกหนักบางแห่ง

คำเตือน ในช่วงวันที่ 17-19 ม.ค. 61 ขอให้เกษตรกรบริเวณประเทศไทยตอนบนระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนาไว้ด้วยส่วนในช่วงวันที่ 20-23 ม.ค. 61 ขอให้เกษตรกรบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลางตอนล่าง ระมัดระวังความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับผลผลิตทางการเกษตรเนื่องจากฝนที่ตกไว้ด้วย

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 17-19 ม.ค. 61 อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 15-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 5-12 องศาเซลเซียส และมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 20-23 ม.ค. 61 อากาศเย็น กับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาบางพื้นที่อุณหภูมิต่ำสุด 16-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดอุณหภูมิต่ำสุด 7-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้อากาศหนาวเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะจะทำให้เปียกชื้นเสียหายได้ รวมทั้งระวังการเกิดอุบัติเหตุเมื่อสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนา
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • สำหรับอากาศเย็นและชื้นในตอนเช้าเหมาะกับการเกิดโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรคราน้ำค้างในพืชผัก ราแป้งในไม้ดอก และราสนิมในกาแฟ เป็นต้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบควรรีบควบคุม

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 17-18 ม.ค. 61 อากาศเย็น อุณหภูมิจะสูงขึ้น2-4 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 16-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาวอุณหภูมิต่ำ สุด 9-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 19-23 ม.ค. 61 อากาศเย็น กับมีหมอกในตอนเช้า โดยมี ฝนฟ้าคะนองบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 18-23 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกความเร็ว 10-30 กม. /ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้จะมีความแตกต่างกันระหว่างอุณหภูมิกลางวันและกลางคืน เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • สำหรับฝนที่ตกในระยะนี้มีปริมาณน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช เกษตรกรควรพิจารณาให้น้ำเพิมเติมตามความเหมาะสม รวมทั้งคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืช ด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำและเป็นการรักษาความชื้นภายในดิน นอกจากนี้ควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรตลอดช่วงแล้ง

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 17-19 ม.ค. 61 อากาศเย็น อุณหภูมิจะสูงขึ้น2-4 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 19-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือความเร็ว 10-30 กม. /ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 20-23 ม.ค. 61 มีเมฆเป็นส่วนมากกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว10-30 กม. /ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับอากาศเย็นและชื้นในตอนเช้าเหมาะกับการเกิดโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคราดำในมะม่วงเกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบควรรีบควบคุมโดยฉีดพ่นด้วยน้ำส้มควันไม้
  • ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ในโรงเรือนควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • ในช่วงวันที่ 20-23 ม.ค. จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง เพราะจะทำให้เปียกชื้นเสียหายได้

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 17-19 ม.ค. 61 อากาศเย็น อุณหภูมิจะสูงขึ้น2-4 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ1 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 20-23 ม.ค. 61 มีเมฆเป็นส่วนมากกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝน ฟ้าคะนองบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้จะมีความแตกต่างกันระหว่างอุณหภูมิกลางวันและกลางคืน เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • ส่วนสภาพอากาศเย็นและชื้น เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 17-18 ม.ค. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงเหนือความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด29-32 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 19-23 ม.ค. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 17-18 ม.ค. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 19-23 ม.ค. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันออกความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-25องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้จะมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
  • ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันโดยเฉพาะทางตอนกลางและตอนล่างของภาค ทำให้ความชื้นในดินและในอากาศมีสูงเกษตรกรควรดูแลพื้นที่เพาะปลูกให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นสะสมภายในพื้นที่เพาะปลูก เพื่อป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา
  • ส่วนทางตอนบนของภาคแม้จะมีฝนแต่มีปริมาณน้อย ซึ่งไม่พอเพียงกับความต้องการของพืช เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้พืชชะงักการเจริญเติบโตผลผลิตลดลง รวมทั้งคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืช และโคนต้นพืช ด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าวและหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำและเป็นการรักษาความชื้นภายในดิน
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 17 - 23 มกราคม 2561

ปริมาณฝนสะสมเดือนมกราคม (ในช่วงวันที่ 1-16 ม.ค.) บริเวณประเทศไทยตอนบนและภาคใต้ตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เว้นแต่ภาคตะวันออกมีปริมาณฝนสะสม 50-150 มม. และภาคใต้ตอนล่างมีปริมาณฝนสะสม 25-300 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 25 มม. เป็นส่วนมาก เว้นแต่บริเวณจังหวัดปราจีนบุรี สมุทรปราการ และภาคใต้ตอนล่างที่มีปริมาณฝนสะสม 25-150 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำ สะสม บริเวณประเทศไทยส่วนมากมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำ สะสม 15-25 มม. โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างด้านตะวันออกมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมมากกว่าบริเวณอื่นๆคือ 25-30 มม.

สมดุลน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นลบโดยมีค่าระหว่าง (-1)-(-30) มม. เว้นแต่บริเวณจังหวัดปราจีนบุรี สมุทรปราการ และภาคใต้ตอนล่างที่มีปริมาณสมดุลย์น้ำสะสมเป็นบวก โดยมีค่าระหว่าง 10 – 150 มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาบริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็น ส่วนภาคใต้ มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศเย็นแต่จะมีอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 3-5 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้าและมีฝนบางแห่ง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพของตนเองและสัตว์เลี้ยงให้แข็งแรงเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน รวมทั้งระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนา สำหรับภาคใต้จะยังมีฝนตกตลอดช่วงกับมีฝนหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวนและพืชผัก ซึ่งจะทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ