พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 29 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ข่าวทั่วไป Monday January 29, 2018 14:38 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 29 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2561

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 13/61

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 29 ม.ค. – 4 ก.พ. ประเทศไทยตอนบนมีสภาพอากาศแปรปรวน โดยจะมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะแรก หลังจากนั้นจะมีอากาศหนาวเย็นลงกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 6-8 องศาเซลเซียส โดยจะเริ่มจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคอื่นๆ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป สำหรับภาคใต้จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทย มีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่ซัดเข้าหาฝั่ง ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 31 ม.ค. – 4 ก.พ.

คำเตือน ในช่วงวันที่ 29 ม.ค. - 4 ก.พ. ขอให้เกษตรกรดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และเกษตรกรบริเวณประเทศไทยตอนบนควรระวังความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับผลผลิตทางการเกษตรเนื่องจากฝนที่ตกในระยะแรกไว้ด้วย สำหรับเกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกให้ระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่ซัดเข้าหาฝั่ง ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 31 ม.ค. - 4 ก.พ.

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 29 ม.ค. – 1 ก.พ. อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 14-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกความเร็ว 10-20 กม./ชม. บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-15 องศาเซลเซียส ส่วนในวันที่ 2 – 4 ก.พ. มีฝนเล็กน้อยบางแห่ง และมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 4-6 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 10-19 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 1-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้จะมีสภาอากาศแปรปรวน โดยมีอากาศหนาวเย็นกับมีฝนตก เกษตรกรควรดูแลสุขภาพของตนเองให้ได้รับความอบอุ่นอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันร่างกายปรับตัวไม่ทัน นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้งเพราะอาจทำให้เปียกชื้นเสียหายได้
  • ในช่วงวันที่ 2 - 4 ก.พ. 61 อุณหภูมิจะลดลง 4-6 องศาเซลเซียส ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • สำหรับสภาพอากาศเย็นและชื้น เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคราน้ำค้าง ในพืชไร่และพืชผัก ซึ่งจะทำให้ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 29 -30 ม.ค. อากาศเย็นถึงหนาว โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ทางตอนล่างของภาคและอุณหภูมิจะลดลง 6-8 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 14-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 6-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ส่วนในวันที่ 31 ม.ค. - 4 ก.พ. มีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง อุณภูมิจะลดลงเล็กน้อย อุณหภูมิต่ำสุด 12-18 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-30 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-10 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียง เหนือ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้จะมีสภาพอากาศแปรปรวน โดยมีฝนในระยะแรกต่อจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 6-8 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง ในช่วงวันที่ 29-30 ม.ค. ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรให้ความอบอุ่นแก่สัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ และควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว รวมทั้งทำแผงกำบังลมหนาวให้กับสัตว์เลี้ยงเพื่อป้องกันลมโกรกโรงเรือน ป้องกันสัตว์หนาวเย็น อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะสัตว์เล็ก
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรลดปริมาณอาหารให้น้อยลง เพื่อป้องกันอาหารเหลือ ซึ่งจะทำให้น้ำเน่าเสีย และควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจนและปรับอุณหภูมิน้ำ
  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนอง แต่ปริมาณน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช เกษตรกรควรให้น้ำเพิ่มเติมตามความเหมาะสมเพื่อไม่ให้พืชชะงักการเจริญเติบโต รวมทั้งหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตไว้กลางแจ้ง เพราะจะทำให้เปียกชื้นและเสียหายได้

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 29 -31 ม.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม. ส่วนในวันที่ 1 - 4 ก.พ. อากาศเย็นกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 4-6 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 17-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-31 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ตลอดช่วง แต่ปริมาณน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช เกษตรกรควรให้น้ำเพิ่มเติมตามความเหมาะสมเพื่อไม่ให้พืชชะงักการเจริญเติบโต รวมทั้งหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตไว้กลางแจ้ง เพราะจะทำให้เปียกชื้นและเสียหายได้
  • ในช่วงวันที่ 1 - 4 ก.พ. 61 อุณหภูมิจะลดลง 4-6 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรให้ความอบอุ่นอย่างเพียงพอ และควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และทำแผงกำบังลมหนาวให้กับสัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันลมโกรกโรงเรือน ป้องกันสัตว์หนาวเย็น อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะสัตว์เล็ก

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 29 -31 ม.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในวันที่ 1 - 4 ก.พ. อากาศเย็นกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 4-6 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 17-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-31 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงนี้จะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะทำให้ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ รวมทั้งระวังศัตรูพืชจำพวกหนอนที่จะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ผลผลิตด้อยคุณภาพ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตไว้กลางแจ้ง เพราะจะทำให้เปียกชื้นเสียหายได้
  • ในช่วงวันที่ 1 - 4 ก.พ. 61 อุณหภูมิจะลดลง 4-6 องศาเซลเซียส อากาศจะหนาวเย็นลงอาจ ทำให้สัตว์น้ำกินอาหารได้น้อย ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำจึงควรลดปริมาณอาหารที่ให้ตามความเหมาะสม เพื่อป้องกันอาหารเหลือ ซึ่งจะทำให้น้ำเน่าเสีย และควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจนและปรับอุณหภูมิน้ำ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 29 -30 ม.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในวันที่ 31 ม.ค. - 4 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 - 40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 29 -30 ม.ค. ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในวันที่ 31 ม.ค. - 4 ก.พ. ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตรห่างฝั่งมีคลื่นสูงมากว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงและมีฝนตกหนัก ทางตอนล่างของภาค เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
  • ส่วนทางตอนบนของภาค แม้จะมีฝนแต่ปริมาณมีน้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช เกษตรกรควรให้น้ำเพิ่มเติมตามความเหมาะสม รวมทั้งระวังศัตรูพืชจำพวกปากดูดที่จะดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ต้นพืชทรุดโทรมและผลผลิตด้อยคุณภาพ
  • สำหรับบริเวณที่มีฝนตกติดต่อกัน ทำให้สภาพอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวนและพืชผัก และควรดูแลพื้นที่เพาะปลูกให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นสะสม
  • ในช่วงวันที่ 29 ม.ค. - 4 ก.พ. 61 บริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน จะมีคลื่นลมแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร เกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออก ควรระวังและป้องกันคลื่นลมแรงที่ซัดเข้าหาฝั่ง ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
  • อนึ่งในช่วงวันที่ 31 ม.ค. – 4 ก.พ. 61 เรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่ง

รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 29 ม.ค. – 4 ก.พ. 2561

ปริมาณฝนสะสมเดือนมกราคม (ในช่วงวันที่ 1-28 มกราคม 2561) บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 150 มม. โดยภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออกมีปริมาณฝนสะสมมากกว่าบริเวนอื่น สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนสะสม 1-400 มม. โดยภาคใต้ฝั่งตะวันออกล่างมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 100-400 มม.ส่วนทางตอนบนของภาคมีปริมาณฝนสะสม 1-100 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 25 มม.เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่บริเวณภาคตะวันออกมีปริมาณฝนสะสม 10-50 มม. และภาคใต้มีปริมาณฝนสะสม ต่ำกว่า 150 มม. โดยทางตอนบนของภาคและตอนล่างของภาจะมีฝนน้อยกว่าบริเวณอื่นๆ ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 50-150 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยส่วนมากมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 15-30 มม. โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างด้านตะวันออกมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมมากกว่าบริเวณอื่นๆ

สมดุลน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยตอนบนมีค่าสมดุลน้ำสะสม (-1)-(-30) มม.เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่บริเวณภาคตะวันออกมีค่าสมดุลน้ำสะสม (-10)-(10) มม สำหรับภาคใต้ทางตอนบนและตอนล่างของภาคมีค่าสมดุลน้ำสะสม (-1)-(-30) มม. ส่วนทางตอนกลางของภาคมีค่าสมดุลน้ำสะสม 1-150 มม. เป็นส่วนใหญ่

คำแนะนำ บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า และมีอุณหภูมิสูงขึ้นในตอนกลางวัน เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับบางพื้นที่อาจมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง ส่วนในครึ่งหลังของสัปดาห์อุณหภูมิจะลดลง เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย สำหรับภาคใต้จะมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวนและพืชผัก ไว้ด้วย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ