พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 14 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ข่าวทั่วไป Wednesday February 14, 2018 13:43 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 14 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ออกประกาศวันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 20/61

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 15-17 ก.พ. บริเวณประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวโดยทั่วไป อุณหภูมิจะสูงขึ้น 3-5 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง ส่วนในช่วงวันที่ 18-20 ก.พ. บริเวณประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และจะมีฝนตกหนักบริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

อนึ่ง พายุดีเปรสชัน “ซันปา” บริเวณด้านตะวันตกของประเทศฟิลิปปินส์ จะเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนล่างในช่วงวันที่ 14-15 ก.พ. 61 และคาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนใต้ในช่วงวันที่ 16-17 ก.พ. 61 แล้วพายุนี้จะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำตามลำดับ ซึ่งพายุนี้ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย

คำเตือน ในช่วงวันที่ 15-17 ก.พ. ขอให้เกษตรกรบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนาไว้ด้วย ส่วนในช่วงวันที่ 18-20 ก.พ. ขอให้เกษตรกรบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักไว้ด้วย

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 14-16 ก.พ. อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า ทางตอนบนของภาคอุณหภูมิจะลดลงอีก 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 14-19 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 3-6 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 17-20 ก.พ. อากาศเย็น กับมีหมอกในตอนเช้า และมีฝนเล็กน้อยบางพื้นที่ กับมีอุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียสอุณหภูมิต่ำสุด 16-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวจัดอุณหภูมิต่ำสุด 6-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงวันที่ 14-16 ก.พ. จะมีอากาศเย็นถึงหนาวและอุณหภูมิลดลง 1-3 องศาเซลเซียส เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนเพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • ส่วนในช่วง 17-20 ก.พ. อากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกในตอนเช้าและมีฝนเล็กน้อยบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคราน้ำค้าง ในพืชไร่และพืชผัก ซึ่งจะทำให้ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ นอกจากนี้เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะจะทำให้เปียกชื้นเสียหายได้
  • เกษตรกรควรเพิ่มความระวังการเกิดอุบัติเหตุเมื่อสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนาไว้ด้วย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 15-17 ก.พ. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิจะสูงขึ้น 3-5 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 18-20 ก.พ. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงวันที่ 15-17 ก.พ. จะยังมีอากาศเย็นแต่อุณหภูมิจะสูงขึ้น3-5 องศาเซลเซียส เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนเพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • เนื่องจากระยะนี้จะมีหมอกหนาในตอนเช้า เกษตรกรควรระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนา และควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะจะทำให้ผลผลิตเปียกชื้นเสียหายได้
  • ในช่วงวันที่ 18-20 ก.พ. จะมีฝนฟ้าคะนอง แต่มีปริมาณน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช เกษตรกรควรให้น้ำเพิ่มเติมตามความเหมาะสมเพื่อไม่ให้พืชชะงักการเจริญเติบโต

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 15-17 ก.พ. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าอุณหภูมิจะสูงขึ้น 3-5 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 18-20ก.พ. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว10-30 กม. /ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้จะมีหมอกในตอนเช้าและอุณหภูมิจะสูงขึ้น 3-5 องศาเซลเซียส เกษตรกรควรระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนา
  • ในระยะนี้มีน้ำระเหยมาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืช และโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบไม้ และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน
  • ในช่วงนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนเพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 15-17 ก.พ. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าอุณหภูมิจะสูงขึ้น 3-5 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 18-20ก.พ. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในระยะนี้จะมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและอุณหภูมิจะสูงขึ้น 3-5 องศาเซลเซียส เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคราดำในมะม่วง หากพบโรคดังกล่าวควรฉีดพ่นด้วยน้ำซึ่งจะสามารถลดการระบาดลงได้
  • ระยะนี้เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโตผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
  • เนื่องจากระยะนี้เป็นช่วงแล้ง เกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด และวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงที่มีฝนตกน้อย

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 15-17 ก.พ. มีฝนเล็กน้อยบางแห่งลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 18-20 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 15-18 ก.พ. มีฝนเล็กน้อยบางแห่งลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 19-20 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1- 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 18-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ทางตอนบนของภาคอากาศเย็น เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • แม้ปริมาณฝนจะมีน้อยแต่ความชื้นในดินยังคงมีอยู่ เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหายและตายได้
  • เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงแล้ง เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางการเกษตร รวมทั้งวางแผนการใช้น้ำที่กักเก็บไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงที่มีฝนตกน้อย
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 14 - 20 กุมภาพันธ์ 2561

ปริมาณฝนสะสมเดือนกุมภาพันธ์ (ในช่วงวันที่ 1-13 กุมภาพันธ์ 2561) บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า25 มม. เว้นแต่ภาคตะวันออกด้านตะวันตกมีปริมาณฝนสะสม 25-50 มม. สำหรับภาคใต้ส่วนมากมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า100 มม. โดยภาคใต้ตอนบนปริมาณฝนสะสมสูงสุด 25-100 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 10 มม. โดยภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนกลางมีปริมาณฝนสะสม 5-10 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยส่วนมากมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 20-35 มม. โดยภาคใต้ตอนล่างมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมมากกว่าบริเวณอื่นๆ

สมดุลน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำสะสม (-20)-(-40) มม. โดยภาคใต้ตอนล่างมีค่าสมดุลน้ำสะสม(-30)-(-40) มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาบริเวณประเทศไทยไม่มีรายงานฝนตกหนักถึงหนักมาก และยังคงมีอากาศหนาวเย็นบริเวณประเทศไทยตอนบน สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้าและมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ เกษตรกรควรดูแลสุขภาพของตนเองแข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อไม่ให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย สำหรับภาคใต้จะมีฝนตกหนักบางพื้นที่เกษตรกรควรระวังการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวนและพืชผัก ซึ่งจะทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ