พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 28 กุมภาพันธ์ - 6 มีนาคม พ.ศ. 2561

ข่าวทั่วไป Wednesday February 28, 2018 14:23 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 6 มีนาคม พ.ศ. 2561

ออกประกาศวันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 26/61

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 1-6 มี.ค. บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน กับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งบริเวณภาคตะวันเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพและปริมณฑล

คำเตือน ในช่วงวันที่2-4 มี.ค. บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก จะมีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 1-6 มี.ค. มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 16-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • เนื่องจากอุณหภูมิที่แตกต่างกันมากระหว่างกลางวันและกลางคืน โดยในบางพื้นที่มีอากาศเย็นในตอนเช้าและมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทันจนทำให้อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • สำหรับบางพื้นที่จะมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้งข้ามคืนเพราะจะทำให้ผลผลิตเปียกชื้นเสียหายได้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 1-6 มี.ค. อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยในช่วงวันที่ 2-4 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 55-65 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้อุณหภูมิสูงสุดและอุณหภูมิต่ำสุดแตกต่างกันมาก หากร่างกายปรับตัวไม่ทันอาจทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย ดังนั้นเกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นฤดูร้อน ปริมาณและการกระจายของฝนจะมีน้อย เกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัดและวางแผนการใช้น้ำที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง
  • เนื่องจากในฤดูร้อนอุณหภูมิที่สูงขึ้น จะทำให้น้ำระเหยได้มากเกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืช และโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 1-6 มี.ค. อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • เนื่องจากระยะนี้มีฝนตกและหยุดสลับกันสภาพอากาศเหมาะแก่การระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ไม้ผล และพืชผักต่างๆ ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินใบอ่อนและยอดอ่อนของพืช
  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน หากเกษตรกรต้องการปลูกพืชในระยะนี้ควรมีน้ำสำรองให้แก่พืช เพื่อป้องกันพืชขาดน้ำในระยะเจริญเติบโต โดยเฉพาะในช่วงที่พืชผลิดอกออกผล จะเป็นช่วงที่พืชต้องการน้ำมากกว่าในระยะอื่นๆ หากพืชได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ ถ้าขาดน้ำจะทำให้สูญเสียผลผลิตโดยสิ้นเชิง

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 1-6 มี.ค. อากาศร้อน โดยในช่วงวันที่ 2-4 มี.ค.มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองในบางพื้นที่ เกษตรกรควรผูกยึดกิ่งและค้ำ ยันลำ ต้นของไม้ผลให้อยู่ในสภาพมั่นคงและแข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหัก และลำต้นโค่นล้ม เมื่อมีลมแรง
  • เนื่องจากฝนที่ตกและหยุดสลับกัน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ไม้ผล และพืชผักต่างๆ ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพได้

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตรความชื้นสัมพัทธ์ 75-85%

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 32-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นฤดูร้อน ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง
  • เนื่องจากฝนที่ลดลงในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ไม้ผล และพืชผักต่างๆ โดยเฉพาะ มังคุด ทุเรียน และเงาะที่อยู่ในระยะแตกใบอ่อน ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต การผลิดอกออกผลลดลง และผลผลิตด้อยคุณภาพ
  • แม้ปริมาณฝนจะลดลงในระยะนี้แต่ความชื้นในดินยังคงมีอยู่ เนื่องจากระยะที่ผ่านมามีปริมาณและการกระจายของฝนมาก เกษตรกรยังคงต้องระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะเชื้อไฟทอปโธราเกษตรกรควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวกแสงแดดส่องได้ทั่วถึง เพื่อลดความชื้นภายในสวนป้องกันโรคดังกล่าว

รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 28 ก.พ. - 6 มี.ค. 2561

ปริมาณฝนสะสมเดือนกุมภาพันธ์ (ในช่วงวันที่ 1-27 กุมภาพันธ์ 2561) บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า100 มม. เว้นแต่ภาคกลางตอนบนมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 100-150 มม. สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม. เว้นแต่ภาคกลางตอนบนมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 100-150 มม. สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยส่วนมากมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 20-35 มม. โดยภาคเหนือด้านตะวันออกและภาคใต้ตอนล่างมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมมากกว่าบริเวณอื่นๆ

สมดุลน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำสะสม (-1)-(-40) มม. เว้นแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคกลางด้านตะวันออกมีค่าสมดุลน้ำสะสม 10-150 มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาบริเวณประเทศไทยมีรายงานฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ กับยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวโดยเฉพาะบริเวณประเทศไทยตอนบน สำหรับในช่วงวันที่ 1-6 มี.ค. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศร้อนในตอนกลางวันโดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นฤดูร้อนปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ สำหรับภาคใต้จะมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ตลอดช่วง เกษตรกรควรระวังการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวนและพืชผัก ซึ่งจะทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ