พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 5 - 11 มีนาคม พ.ศ. 2561

ข่าวทั่วไป Monday March 5, 2018 14:56 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 5-11 มีนาคม พ.ศ. 2561

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2561

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 28/61

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 5-6 มี.ค. บริเวณประเทศไทยมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพและปริมณฑล ส่วนในช่วงวันที่ 7-11 มี.ค. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยมีลักษณะพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกได้บางพื้นที่ สำหรับภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้น

คำเตือน ในช่วงวันที่ 7-9 มี.ค. ขอให้เกษตรกรบริเวณประเทศไทยตอนบนหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรงในขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง สำหรับเกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 5–7 มี.ค. มีเมฆบางส่วนกับมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 16-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-40 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 8-10 มี.ค.จะมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนัก ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางพื้นที่หลังจากนั้นฝนจะลดลงและอุณหภูมิจะสูงขึ้น อุณหภูมิต่ำสุด 16-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้อุณหภูมิในตอนกลางวันและกลางคืนจะแตกต่างกันมาก เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย รวมทั้งฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่จะเกิดในฤดูร้อนให้กับสัตว์ด้วย
  • ส่วนวันที่ 8-10 มี.ค. จะมีพายุฤดูร้อน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดกับอาคารบ้านเรือนและพืชผลทางการเกษตรผลผลิตที่แก่ดีแล้วควรรีบเก็บเกี่ยว
  • สำหรับตอนล่างของภาคมีอากาศร้อนทำให้น้ำระเหยมากเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในระยะนี้ควรดูแลจำนวนสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ หากปริมาณน้ำมีน้อยจะทำให้

สัตว์น้ำอยู่อย่างแออัด ส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 5-6 มี.ค. มีเมฆบางส่วนกับมีอากาศร้อนโดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.ส่วนในช่วงวันที่ 7-9 มี.ค. มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ หลังจากนั้นฝนจะลดลงและอุณหภูมิจะสูงขึ้น อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 55-65%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้อุณหภูมิในตอนกลางวันและกลางคืนจะแตกต่างกันมาก เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย รวมทั้งฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่จะเกิดในฤดูร้อนให้กับสัตว์ด้วย
  • ในช่วงวันที่ 7-9 มี.ค. จะมีพายุฤดูร้อน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดกับอาคารบ้านเรือนและพืชผลทางการเกษตรผลผลิตที่แก่ดีแล้วควรรีบเก็บเกี่ยว และหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตไว้กลางแจ้งในช่วงดังกล่าว
  • นอกจากนี้ ควรซ่อมแซมโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ให้มั่นคงแข็ง และหลีกเลี่ยงการปล่อยสัตว์เลี้ยงอยู่ในที่โล่งแจ้งขณะที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 5–7 มี.ค. มีเมฆบางส่วนกับมีอากาศร้อน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียสลมใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 8-11 มี.ค.จะมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • เนื่องจากระยะนี้อากาศร้อนในตอนกลางวัน เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ในโรงเรือนควรดูแลโรงเรือนให้อากาศถ่ายเทสะดวก รวมทั้งจัดหาน้ำกินให้กับสัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันสัตว์เครียด อ่อนแอ และเจ็บป่วย นอกจากนี้ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่จะเกิดในฤดูร้อนให้กับสัตว์ด้วย
  • ในช่วงวันที่ 8-11 มี.ค. จะมีพายุฤดูร้อน โดยมีฝนฟ้าคะนอง กับมีฝนตกหนัก ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตก บางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดกับอาคารบ้านเรือนและพืชผลทางการเกษตร ผลผลิตที่แก่ดีแล้วควรรีบเก็บเกี่ยว และหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตไว้กลางแจ้งในช่วงดังกล่าว

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 5–6 มี.ค. อากาศร้อน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตรส่วนในช่วงวันที่ 7-11 มี.ค. มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนัก ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีสูงประมาณ 1 เมตรความชื้นสัมพัทธ์ 65-75%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงวันที่ 7-11 มี.ค. จะมีพายุฤดูร้อน โดยมีฝนฟ้าคะนอง กับมีฝนตกหนัก ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตก บางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดกับอาคารบ้านเรือนและพืชผลทางการเกษตร ผลผลิตที่แก่ดีแล้วควรรีบเก็บเกี่ยว และหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตไว้กลางแจ้งในช่วงดังกล่าว
  • ระยะนี้จะมีพายุฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ชาวสวนไม้ผลควรผูกยึดและค้ำยันกิ่งและลำต้นของไม้ผลที่รับน้ำหนักมากให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักและลำต้นโค่นล้มเนื่องจากลมกระโชกแรง

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 5–6 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ10-20 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 7-11 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักในช่วงวันที่ 9-10 มี.ค. อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80%

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 5–6 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ10-20 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 7-11 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียสลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตรความชื้นสัมพัทธ์ 70-80%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้แม้จะมีฝนตก แต่มีปริมาณน้อย ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช เกษตรกรควรให้น้ำเพิ่มเติมตามความเหมาะสม รวมทั้งคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผลและพืชผักต่างๆด้วย ซึ่งจะทำ ให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
  • สำหรับในช่วงวันที่ 7-11 มี.ค. จะมีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรระวังอันตรายและความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
  • เนื่องจากระยะนี้เป็นช่วงฤดูร้อน ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย เกษตรควรใช้น้ำอย่างประหยัด รวมทั้งวางแผนการใช้น้ำที่กักเก็บไว้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำไว้ใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนแล้ง
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 5 – 11 มี.ค. 2561

ปริมาณฝนสะสมเดือนมีนาคม (ในช่วงวันที่ 1-4 มีนาคม 2561) บริเวณประเทศไทยส่วนมากไม่มีฝนตก เว้นแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันออก บางพื้นที่ของภาคกลางด้านตะวันตก ภาคตะวันออกตอนล่าง และภาคใต้ฝั่งตะวันตกที่มีฝนตก โดยปริมาณฝนสะสม 1-25 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 25 มม. เว้นแต่ภาคกลางด้านตะวันออก และบางพื้นที่ภาคตะวันออกตอนล่าง มีปริมาณฝนสะสม 25-100 มม. โดยบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ และลพบุรีมีปริมาณฝนสะสม50 - 100 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยส่วนมากมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 25-40 มม. โดยภาคใต้บริเวณจังหวัดพัทลุงมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมสูงสุด มีค่า 35 – 40 มม.

สมดุลน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นลบ (-1)-(-40) มม. เว้นแต่ภาคกลางด้านตะวันออกมีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นบวก 10-40 มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาบริเวณประเทศไทยมีรายงานฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ กับมีอากาศเย็นถึงหนาวโดยเฉพาะบริเวณประเทศไทยตอนบน สำหรับในช่วงวันที่ 5-6 มี.ค. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศร้อนในตอนกลางวันโดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 7 – 9 มี.ค. จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนัก กับลมกระโชกแรงและลูกเห็บตก บางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดกับอาคารบ้านเรือนและพืชผลทางการเกษตร ผลผลิตที่แก่ดีแล้วควรรีบเก็บเกี่ยว และหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตไว้กลางแจ้งในช่วงนี้ นอกจากนี้บริเวณที่มีฝนตกหนักเกษตรกรควรกักเก็บน้ำไว้ใช้ทางด้านการเกษตร และวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพเพื่อจะได้มีน้ำใช้ตลอดช่วงแล้ง สำหรับภาคใต้จะมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ตลอดช่วง เกษตรกรควรระวังการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวนและพืชผัก ซึ่งจะทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ