พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 23 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2561

ข่าวทั่วไป Friday March 23, 2018 15:36 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 23-29 มีนาคม พ.ศ. 2561

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2561

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 36/61

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในวันที่ 24-26 มี.ค. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นทำให้มีอากาศร้อน โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 27-29 มี.ค. ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ สำหรับภาคใต้ ในช่วงวันที่ 23-24 มี.ค. จะมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มมากขึ้น กับมีฝนตกหนักและลมกระโชกแรงบางพื้นที่ ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร โดยเฉพาะบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง หลังจากนั้นในวันที่ 25-29 มี.ค. จะมีฝนลดลง และคลื่นลมมีกำลังอ่อนลง

คำเตือน ในช่วงวันที่ 23-24 มี.ค. บริเวณภาคใต้จะมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าวส่วนบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือเด้วยความระมัดระวัง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 24-26 มี.ค. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ส่วนในช่วงวันที่ 27-29 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 17-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-39 องศาเซลเซียสลมใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์55-65%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้มีแดดจัดและมีอากาศร้อน เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งเป็นเวลานาน หากมีความจำเป็นต้องทำงานกลางแจ้งควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด เพื่อป้องกันผิวไหม้เกรียมและควรดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ
  • เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูดใน พืชไร่ไม้ผล และพืชผักต่างๆ ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
  • เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงและสภาพอากาศแห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่เพาะปลูก โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ โรงเก็บพืชผลทางด้านการเกษตรและอาคารบ้านเรือน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 24-27 มี.ค.มีเมฆบางส่วนกับมีอากาศร้อน ลมตะวันออก ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 28-29 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-39 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์60-70%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว หากเปียกฝนในระยะที่ผ่านมา เกษตรกรควรลดความชื้นลง ก่อนนำเข้าโรงเก็บเพื่อป้องกันผลผลิตเน่าเสียหายในโรงเก็บผลผลิต
  • ในช่วงฤดูร้อนปริมาณน้ำระเหยจะมีมาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและบริเวณโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงควรดูแลสภาพน้ำให้เหมาะสมกับชนิดของสัตว์น้ำที่เลี้ยง รวมทั้งดูแลจำนวนสัตว์น้ำที่เลี้ยงให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่หากขาดความสมดุลจะทำให้สัตว์น้ำ อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 24-26 มี.ค. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ลมตะวันออกความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 27-29 มี.ค.มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-26องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 65-75%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้แม้จะมีฝนตกแต่ปริมาณและการกระจายยังมีน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต และเจริญเติบโตทางผลอย่างเพียงพอหากพืชได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ต้นพืชเหี่ยวเฉา ถ้าขาดน้ำเป็นเวลานานจะทำให้ต้นพืชตายได้
  • ระยะนี้อุณหภูมิจะสูงในตอนกลางวัน เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรลดอุณหภูมิในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ โดยนำวัสดุอุ้มน้ำชุบน้ำแล้วนำไปไว้ในโรงเรือน หรือพ่นน้ำเป็นฝอยภายในโรงเรือนหรือหากมีน้ำเพียงพออาจฉีดพ่นน้ำบริเวณหลังคาโรงเรือก็จะช่วยลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนลงได้
  • ในช่วงฤดูร้อนปริมาณน้ำในแหล่งน้ำจะลดลง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังหากระดับน้ำลดลง เกษตรกรควรเคลื่อนย้ายกระชังลงไปในที่ซึ่งมีน้ำลึกกว่าเดิม

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 24-26 มี.ค. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตรส่วนในช่วงวันที่ 27-29 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว หากเปียกฝนในช่วงที่ผ่านมา เกษตรกรควรลดความชื้นก่อนนำเข้าโรงเก็บผลผลิต เพื่อป้องกันผลผลิตเน่าเสียหายในโรงเก็บ

-เนื่องจากฝนที่ตกและหยุดสลับกันในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อนทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ

  • ในช่วงฤดูร้อนปริมาณน้ำระเหยจะมีมาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืช และโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 23-24 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดชุมพรขึ้นมา ลมตะวันออก ความเร็ว15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดสุราษฏร์ธานีลงไป ลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 25-29 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80%

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 23-24 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 25-29 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 70-80%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงวันที่ 23-24 มี.ค. บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีฝนเพิ่มขึ้น เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
  • เนื่องจากระยะนี้เป็นช่วงฤดูร้อนปริมาณและการกระจายของฝนจะมีน้อย พื้นที่ซึ่งมีฝนตก เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตร
  • ฝนที่ตกในระยะนี้จะเป็นผลดีกับไม้ผลที่อยู่ในระยะออกดอกซึ่งจะทำให้การออกดอกของพืชดีขึ้น แต่ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต การผลิดอกออกผลลดลง
  • สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยง ไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตก เกษตรกรควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อให้น้ำในระดับบนและน้ำในระดับที่ลึกลงไปรวมเป็นเนื้อเดียวกันป้องกันน้ำแยกชั้นและเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ
  • อนึ่งในช่วงวันที่ 23-24 มี.ค. บริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือเด้วยความระมัดระวัง
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 23-29 มี.ค. 2561

ปริมาณฝนสะสมเดือนมีนาคม (ในช่วงวันที่ 1-22 มีนาคม) บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม.เว้นแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างด้านตะวันออกและภาคตะวันออกตอนล่าง มีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 100-150 มม.สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เว้นแต่ภาคใต้ตอนบนมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 50-100 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เว้นแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างด้านตะวันออกและภาคตะวันออกตอนล่าง มีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 50-100 มม. สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำ สะสม บริเวณประเทศไทยส่วนมากมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำ สะสม 25-40 มม. โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคใต้ตอนล่าง มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมมากกว่าบริเวณอื่นๆสมดุลน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำสะสม (-1)-(-40) มม. เว้นแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างด้านตะวันออกและภาคตะวันออกตอนล่างมีค่าสมดุลน้ำสะสม 1-70 มม. สำหรับภาคใต้ส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำสะสม(-1)-(-40) มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาบริเวณประเทศไทยตอนบนมีรายงานฝนตกหนักหลายพื้นที่ กับมีอากาศร้อนในตอนกลางวันสำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า บริเวณประเทศไทยจะมีอากาศร้อนกับมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนอ่อนของพืชทำให้ผลผลิตเสียหายได้ สำหรับภาคใต้ในช่วงวันที่ 23-24 มี.ค. จะมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่กับมีฝนตกหนักและลมกระโชกแรงบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ