พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 1 - 7 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ข่าวทั่วไป Friday June 1, 2018 14:29 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 1 - 7 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2561

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 66/61

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 2 - 3 มิ.ย. บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่งในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ส่วนในช่วงวันที่ 4 – 7 มิ.ย. บริเวณประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

คำเตือน ในช่วงวันที่ 4-7 มิ.ย. บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 1 - 4 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 5 –7 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผลและผลแก่เช่น ลิ้นจี่และลำไย เป็นต้น เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้ผลที่ร่วงหล่นกองอยู่ภายในบริเวณสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งมักระบาดในช่วงฤดูฝน
  • สำหรับเกษตรกรที่ปลูกไม้ดอก ระยะนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบจุดสีดำ ในกุหลาบ และโรคดอกเน่า ในเบญจมาศเป็นต้น โดย ดูแลแปลงปลูกให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก หากพบโรคเกิดขึ้นควรรีบเก็บรวบรวมไปกำจัดเพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ไปยังต้นอื่นๆ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 2 - 3 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 4 – 7 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-25องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงที่มีฝนตกอาจมีน้ำขัง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำที่สกปรก หากมีความจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูททุกครั้ง เพื่อป้องกันโรค เล็ปโตสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนู
  • สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบ เช่น โคและกระบือ
  • เนื่องจากในระยะปลายเดือนนี้ปริมาณและการกระจายของฝนอาจลดลง เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตร ในช่วงที่มีฝนตกน้อย

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 1 - 4 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 5 – 7 มิ.ย. มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ความเร็ว 15-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทานเกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนตกน้อย เนื่องจากในระยะปลายเดือนปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง
  • ระยะนี้ฝนตกและหยุดสลับกัน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 1 – 3 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตรบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 4 – 7 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตหมดไปแล้ว เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่ง และขั้วผลแล้วทาด้วยสารป้องกันเชื้อรารวมทั้งใส่ปุ๋ย เพื่อให้ต้นฟื้นตัวได้เร็ว มีเวลาพักตัวได้นานขึ้น
  • ส่วนพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำในพื้นที่เพาะปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืชนานซึ่งอาจทำให้รากพืชเน่าต้นพืชตายได้

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 1 – 3 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันตกเฉียงใต้ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 4 – 7 มิ.ย.มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 1 – 3 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 4 – 7 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับในระยะครึ่งหลังของช่วงจะมีฝนกับฝนตกหนักบางพื้นที่โดยเฉพาะทางภาคใต้ฝั่งตะวันตก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
  • ส่วนไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะเจาะและกัดกินผลทำให้ผลผลิตเสียหาย และด้อยคุณภาพ
  • เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยง ไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำ ให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรที่ปลูกกาแฟและยางพาราควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรคราสนิมในกาแฟ โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง และโรคราสีชมพู ในยางพารา เป็นต้น
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 1– 7 มิถุนายน 2561

ปริมาณฝนสะสมเดือนพฤษภาคม ประเทศไทยส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสม 100-400 มม. เว้นแต่บริเวณจังหวัดเชียงราย และระนอง ที่มีปริมาณฝนสะสม 400-600 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา (ช่วงวันมี่ 25-31 พ.ค.) ประเทศไทยส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสม 10-150 มม. เว้นแต่บริเวณจังหวัดระนอง และพังงา ที่มีปริมาณฝนสะสม 150-200 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยตอนบนมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 20-35 มม. ส่วนภาคใต้ มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 20-25 มม.

สมดุลน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยส่วนใหญ่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นบวก คือ 1-150 มม. เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือภาคกลางตอนบน และภาคใต้ฝั่งตะวันออก ที่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นลบ คือ (-1) – (-30) มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรายงานฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า ประเทศไทยจะยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งควรขุดลอกคูคลองและทางระบายน้ำ อย่าให้ตื้นเขิน น้ำไหลได้สะดวก เพื่อป้องกันน้ำขังในแปลงเพาะปลูก นอกจากนี้ควรระวังการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งจะทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ