พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 20-26 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ข่าวทั่วไป Wednesday June 20, 2018 14:48 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 20-26 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ออกประกาศวันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2561

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 74/61

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 21-26 มิ.ย. บริเวณประเทศไทยจะมีฝนลดลง แต่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร

คำเตือน ระยะนี้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ จะมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ส่วนบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางตะวันตกของภาค ตลอดช่วงลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว โดยเฉพาะลิ้นจี่เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่ง แล้วทาแผลรอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา ใส่ปุ๋ย เพื่อให้ต้นฟื้นตัวได้เร็วขึ้น เพื่อให้ต้นพืชมีเวลาพักตัวได้นาน
  • พื้นที่ซึ่งมีฝนตกชุกทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูงเกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล ไม้ดอก และพืชผัก เช่น โรคราสนิมในกาแฟ โรคใบจุดในเบญจมาศ และกุหลาบ เป็นต้น โดยเก็บรวบรวมส่วนของพืชที่เป็นโรค และถูกศัตรูพืชทำลายไปกำจัด โดยเผาหรือฝังให้ลึก และดูแลพื้นที่เพาะปลูกให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกเพื่อลดความชื้นสะสมในพื้นที่เพาะปลูก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะสัตว์เท้ากีบ เช่น โคและกระบือ เป็นต้น อาจเป็นโรคปากและเท้าเปื่อยได้
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตก เกษตรกรควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อให้น้ำผสมเป็นเนื้อเดียวกัน ป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค ตลอดช่วง ลมตะวันตกเฉียงใต้ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงที่มีฝนตกพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทานเกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตร เนื่องจากในระยะปลายเดือนปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลงหรืออาจเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง
  • สำหรับฝนที่ตกไม่สม่ำสมอในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพื้ชไร่ไม้ผล และพืชผักต่างๆ ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 26-28องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เช่น เงาะ ทุเรียนและลองกอง เป็นต้น เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่ง และขั้วผลแล้วทาแผลรอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา ใส่ปุ๋ย เพื่อให้ต้นฟื้นตัวได้เร็ว เพื่อให้ต้นพืชมีเวลาพักตัวได้นานขึ้น
  • ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหายและตายได้
  • ระยะนี้บริเวณอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นสูง1- 2 เมตรชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 21-23 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ในช่วงวันที่ 24-26 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตรห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 21-26 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ โดยในช่วงวันที่ 20-22 มิ.ย.มีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้เป็นช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ภาคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับลมมรสุมดังกล่าวจะมีปริมาณและการกระจายของฝนมากกว่าทางฝั่งตะวันออกกับจะมีฝนตกหนักได้บางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
  • ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูงเกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคราสนิมในกาแฟ โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง และโรคราสีชมพูในยางพาราเป็นต้น โดยดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก ลดความชื้นภายไนพื้นที่เพาะปลูก
  • ส่วนทางฝั่งตะวันออกจะมีฝนตกในช่วงเย็นและค่ำซึ่งจะเป็นผลดีกับพืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต และไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล แต่ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต
  • ระยะนี้บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 20 - 26 มิถุนายน 2561

ปริมาณฝนสะสมเดือนมิถุนายน (ในช่วงวันที่ 1-19 มิ.ย.) ประเทศไทยส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสม 50-200 มม. เว้นแต่บริเวณด้านตะวันตกของภาคเหนือและภาคกลาง ด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบนและตอนล่างของภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน ที่มีปริมาณฝนสะสม 200-600 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสม 5-200 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่บริเวณทางตอนบนของภาคใต้ฝั่งตะวันตก ที่มีปริมาณฝนสะสม 200-400 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม ประเทศไทยส่วนมากมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 20-40 มม. โดยเฉพาะบริเวณตอนกลางของประเทศ มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมสูงกว่าบริเวณอื่น

สมดุลน้ำสะสม ประเทศไทยส่วนใหญ่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นบวก คือ 1-150 มม.โดยแฉพาะทางตอนบนของภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีค่าสมดุลน้ำสะสม 150-300 มม. สำหรับบริเวณที่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นลบ (-1) – (-40) ส่วนมากได้แก่บริเวณตอนกลางของประเทศ

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรายงานฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า ประเทศไทยจะมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตร รวมทั้งวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงที่มีฝนน้อย นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล ไม้ดอก และพืชผักต่างๆ ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ผลผลิตเสียหายได้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ