พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 6 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ข่าวทั่วไป Friday July 6, 2018 15:32 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 6 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 81/61

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 6-8 ก.ค. บริเวณประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ ส่วนในช่วงวันที่ 9-12 ก.ค. ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตรตลอดช่วง

คำเตือน ในช่วงวันที่ 6-12 ก.ค. ขอให้ประชาชนระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 6-9 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 10-12 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • เนื่องจากระยะที่ผ่านมาหลายพื้นที่มีฝนตกน้อยกว่าอัตราการสูญเสียน้ำจากการระเหยน้ำและการคายน้ำของพืช และในช่วงวันที่ 10-12 ก.ค. จะมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งจะเป็นผลดีสำหรับต้นข้าวที่กำลังเจริญเติบโต บริเวณที่มีฝนตกหนักเกษตรกรควรเก็บกักน้ำไว้ใช้ด้านการเกษตรในระยะต่อไปด้วย
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรสำรวจขอบบ่อและเสริมขอบบ่อให้ดูมั่นคงแข็งแรงเพื่อป้องกันน้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย และเปิดเครื่องตีน้ำหลังจากมีฝนตกหนัก เพื่อปรับสภาพน้ำและเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 6-8 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 9-12 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงวันที่ 10-12 ก.ค. จะมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนหนักบางพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนและด้านตะวันออกของภาค ซึ่งจะเป็นผลดีสำหรับต้นข้าวที่กำลังเจริญเติบโต แต่เกษตรกรควรระวังโรคไหม้ โดยหมั่นสำรวจแปลงนาหากพบควรรีบควบคุมก่อนระบาดเป็นบริเวณกว้าง
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ ควรสำรวจและซ่อมแซมโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ให้มีความมั่นคงแข็งแรง หลังโรงเรือนและแผงกำบังฝนสาดที่มีรอยรั่วซึมในระยะที่ผ่านมาให้สมบูรณ์ เพื่อป้องกันฝนรั่วทำให้สัตว์เลี้ยงเปียกชื้นหนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 6-8 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 9-12 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงวันที่ 9-12 ก.ค. จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับผลผลิตทางการเกษตร และโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งควรเตรียมป้องกันไม่ให้มีน้ำท่วมขังในแปลงปลูกพืชนานเพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศต้นพืชตายได้
  • ระยะนี้จะมีฝนตกสลับกับมีอากาศร้อนในบางวัน ซึ่งสภาพอากาศ เหมาะแก่การระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 6-8 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 9-12ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ซึ่งอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมได้ สวนไม้ผลที่อยู่ในที่ลุ่มเกษตรกรควรดูแลระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืชนาน ทำให้รากพืชขาดอากาศ ต้นพืชตายได้ รวมทั้งระวังโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่า
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ควรหมั่นสังเกตสัตว์ที่เลี้ยงโดยเฉพาะหลังจากที่มีฝนตกซึ่งจะทำให้อุณหภูมิของน้ำและสภาพน้ำเปลี่ยน อาจจะทำให้สัตว์ปรับตัวไม่ทัน จนอ่อนแอและติดเชื้อโรคได้ง่าย เกษตรกรควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อปรับสภาพน้ำ และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 6-8 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 9-12 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางตอนบนของภาค ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูงมากกว่า2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด20-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 6-8 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 9-12 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมา: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ตั้งแต่จังหวัดกระบี่ลงไป: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์80-90 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงนี้จะมีฝนตกหนักบางแห่งตลอดช่วง เกษตรกรควรระวังอันตราย และป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยดูแลระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังบริเวณแปลงปลูกเมื่อมีฝนตกหนัก
  • ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำ ให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรที่ปลูกกาแฟ ยางพารา และไม้ผลควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา หากพบโรคดังกล่าวควรรีบควบคุมโรค เพื่อไม่ให้ระบาดเป็นบริเวณกว้าง
  • ในช่วงวันที่ 6-12 ก.ค. บริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบน จะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 6– 12 ก.ค. 2561

ปริมาณฝนสะสมเดือนกรกฎาคม (ในช่วงวันที่ 1-5 ก.ค.) ประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสม 1-100 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณจังหวัดตราด ระนอง และพังงา ที่มีปริมาณฝนสะสม 100-150 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยส่วนมากมีปริมาณฝนสะสม 1-100 มม. เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณจังหวัดตราดระนอง และพังงา ที่มีปริมาณฝนสะสม100-150 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนมากมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 25-40 มม. โดยเฉพาะด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 35-45 มม. ส่วนในภาคใต้มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 20-30 มม.

สมดุลน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนใหญ่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นลบ คือ (-1) – (-40) มม. เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณด้านตะวันตกของภาคเหนือ ทางตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก ที่มีค่าสมดุลน้ำสะสมน้ำเป็นบวก คือ 1 - 100 มม. สำหรับภาคใต้ส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นบวก คือ 1-150 มม. เว้นแต่บริเวณตอนบนและตอนล่างของภาค ที่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นลบ คือ (-1) – (-20) มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรายงานฝนตกหนักในหลายพื้นที่ สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า ประเทศไทยจะยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว และควรระวังการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวนและพืชผัก ซึ่งจะทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโตผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ