พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 17 ธันวาคม 2550 - 23 ธันวาคม 2550

ข่าวทั่วไป Monday December 17, 2007 16:00 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ 
ระหว่าง 17 ธันวาคม 2550 - 23 ธันวาคม 2550
ภาคเหนือ
มีหมอกในตอนเช้ากับมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อากาศหนาวทางตอนบนของภาค ส่วนทางตอนล่างของภาคอากาศเย็น สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด ในช่วงวันที่ 20-23 ธ.ค.อุณหภูมิจะสูงขึ้น และมีฝนบางพื้นที่ ผู้ที่ปลูกพืชผักและไม้ดอกควรระวังและป้องกันโรคราน้ำค้าง ซึ่งจะทำให้ผลผลิตเสียหาย ในระยะนี้น้ำจะระเหยรวดเร็ว ดังนั้นเกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชอย่างพอเพียงโดยเฉพาะพืชที่อยู่ในระยะ ออกดอกและติดผลอ่อน เพราะหากขาดน้ำจะทำให้ดอกและผลอ่อนร่วงหล่น การติดผลจะลดลง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีหมอกในตอนเช้าและอากาศเย็น สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว และในช่วงวันที่ 20-23 ธ.ค. อุณหภูมิจะสูงขึ้น ระยะต่อไปมีโอกาสขาดแคลนน้ำ เกษตรกรจึงควรใช้น้ำอย่างประหยัด และวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ สำหรับผู้ที่ปลูกพืชผักในระยะนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรต่างๆ ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตเสียหาย
ภาคกลาง
อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า และในช่วงวันที่ 20-23 ธ.ค.อุณหภูมิจะสูงขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากระยะนี้อากาศแห้งผู้ที่ปลูกกล้วยไม้ควรเพิ่มความชุ่มชื้นในโรงเรือนที่ปลูก สำหรับเกษตรกรที่ปลูกพืช ในระยะนี้ควรคลุมบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อรักษาความชื้นดิน
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 17-20 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางพื้นที่ ส่วนมากตามบริเวณชายฝั่ง เนื่องจากระยะนี้อากาศแห้งผู้ที่ปลูกมะม่วงควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด โดยเฉพาะเพลี้ยจั๊กจั่นหรือแมงกะอ้าซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยง และถ่ายมูลออกมาเป็นสาเหตุของโรคราดำ สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะออกดอกเกษตรกรควรให้น้ำอย่างเพียงพอ เพราะหากขาดน้ำจะทำให้ดอกร่วงหล่นการติดผลลดลง
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ทางฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 17-19 ธ.ค.มีฝนฟ้าคะนองกระจาย กับมีฝนตกหนักบางแห่งตั้งแต่จังหวัด สุราษฎร์ธานีลงไป และในช่วงวันที่ 20-23 ธ.ค.มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ส่วนทางฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจายส่วนมากทางตอนล่างของภาคตลอดช่วง สำหรับบริเวณทางตอนบนของภาคซึ่งสภาพอากาศแห้ง เกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชที่มีระบบรากสั้น ส่วนทุเรียนที่อยู่ในระยะแตกใบอ่อนชาวสวนควรระวังการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่นเพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยหอย และไรแดง สำหรับพื้นที่การเกษตรทางตอนล่างของภาค ที่ถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมา เกษตรกรควรฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำโดยหากพบต้นไม้ที่ล้มเอนควรผูกยึดให้ตั้งตรง ถ้ามีบาดแผลควรตัดแต่งบาดแผล ทำความสะอาดแล้วทาด้วยสารป้องกันเชื้อรา อนึ่ง ในช่วงวันที่ 17-19 ธ.ค.คลื่นลมตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปมีกำลังค่อนข้างแรง ชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ