พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 2 - 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ข่าวทั่วไป Friday November 2, 2018 14:21 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 2-8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 132/61

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในข่วงวันที่ 3-6 พ.ย. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ แต่ยังคงมีอากาศเย็นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 7-8 พ.ย. บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางจะมีฝนเล็กน้อยบางแห่งในระยะแรก หลังจากนั้นจะมีอากาศเย็นกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส สำหรับภาคใต้ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 3-6 พ.ย. บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น กับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ ในขณะที่มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 7-8 พ.ย. บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอกจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคตะวันออก และภาคกลางจะมีฝนเล็กน้อยบางแห่งในระยะแรก หลังจากนั้นจะมีอากาศเย็นกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศมาเลเซีย และมีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศมาเลเซียและภาคใต้ตอนล่างประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง

คำเตือน ในช่วงวันที่ 3-5 พ.ย. ขอให้ประชาชนในบริเวณประเทศไทยตอนบน ระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนาไว้ด้วยส่วนในช่วงวันที่ 6-8 พ.ย. ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ที่อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 2 - 3 พ.ย. อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 14-18 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด4-13 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 4 - 8 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่อุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 21-23องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียสสำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 9-13 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • เกษตรกรที่ปลูกลิ้นจี่ซึ่งอยู่ในระยะพักตัวเตรียมออกดอกควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนเช่น หนอนเจาะกิ่ง เป็นต้น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 3-6 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-13 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในวันที่ 7-8 พ.ย. อากาศเย็นในตอนเช้ากับมีลมแรง โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด11-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และมีฝนเล็กน้อยบางแห่งในช่วงวันที่ 7-8 พ.ย. เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • ในช่วงฤดูหนาวปริมาณน้ำระเหยจะมีมากความชื้นในดิน ลดลง เกษตรกรควรคลุมดินด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 3-6 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 7-8 พ.ย. อากาศเย็นในตอนเช้ากับมีลมแรง โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และมีฝนเล็กน้อยบางแห่งในช่วงวันที่ 7-8 พ.ย. เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • ในช่วงที่มีอากาศเย็นสัตว์น้ำจะกินอาหารได้น้อยลงเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำควรลดปริมาณอาหาร รวมทั้งควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำ
  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 3-6 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 7-8 พ.ย. มีเมฆบางส่วน กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนในระยะต้นฤดูหนาวเกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • แม้ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง แต่ความชื้นในดินยังคงมีอยู่ ชาวสวนผลไม้ ยังคงต้องระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่า โดยดูแลสภาพสวนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวกแสงแดดส่องได้ทั่วถึง เพื่อลดความชื้นภายในบริเวณสวน
  • ในระยะนี้บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตรชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค ในข่วงวันที่ 2-6 พ.ย. ลมตะวันออกเฉียงเหนือความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่7-8 พ.ย. ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งตลอดช่วง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
  • ในช่วงที่มีฝนตกต่อเนื่องทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรที่ปลูกทุเรียนซึ่งอยู่ในระยะแตกใบอ่อนและเจริญเติบโตทางใบควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราใบติดและโรคใบจุดสาหร่าย เป็นต้น
  • อนึ่ง ในช่วงวันที่ 7-8 พ.ย. บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า2เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 2-8 พ.ย. 2561

ปริมาณฝนสะสมเดือนพฤศจิกายน (ช่วงวันที่ 1-1 พ.ย.) บริเวณพื้นที่ส่วนใหญ่ประเทศไทยไม่มีรายงานฝน เว้นแต่บริเวณภาคใต้ตอนล่าง ที่มีปริมาณฝนสะสม 1 - 50 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา (ช่วงวันที่ 26 ต.ค. – 1 พ.ย.) ประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 25 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่ภาคใต้ตอนล่างที่มีปริมาณฝนสะสม 50-150 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม ประเทศไทยส่วนใหญ่มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 20-30 มม. เว้นแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางด้านตะวันออก และภาคตะวันออกที่มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 30-35 มม.

สมดุลน้ำสะสม ประเทศไทยส่วนใหญ่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นลบ คือ (-1) – (-40) มม. โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางด้านตะวันออก และบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเป็นบริเวณที่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นลบมากกว่าบริเวณอื่นๆสำหรับบริเวณที่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นบวก คือ 1 – 70 มม. อยู่ในภาคใต้ตอนบนและตอนล่าง

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรายงานฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า บริเวณประเทศไทยตอนบน อุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 3-6 พ.ย. 61 แต่จะยังคงมีอากาศเย็นและมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอก นอกจากนี้ควรระวังการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของต้นพืช ทำให้ผลผลิตเสียหายได้ สำหรับภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยดูแลระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก และควรระวังป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพได้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ