พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 28 พฤศจิกายน - 4 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ข่าวทั่วไป Wednesday November 28, 2018 15:35 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน - 4 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ออกประกาศวันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ฉบับที่ 143/61

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 28-29 พ.ย. ประเทศไทยตอนบนเริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีหมอกบางในตอนเช้า แต่ยังคงมีอากาศเย็นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนบริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ สำหรับภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 30 พ.ย. – 4 ธ.ค. ประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก สำหรับภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง

ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 28-29 พ.ย. บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีหมอกบางในตอนเช้า แต่ยังคงมีอากาศเย็นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนบริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 30 พ.ย. – 4 ธ.ค. บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ส่งผลทำให้มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้น กับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง ส่งผลให้มีลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง

คำเตือน ในช่วงวันที่ 28 พ.ย. – 4 ธ.ค. ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนให้ระมัดระวังสัญจรบริเวณที่มีหมอกหนาไว้ด้วย สำหรับประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักไว้ด้วย

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 28-29 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 16-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 2-11 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-30 กม./ชม ส่วนในช่วงวันที่ 30 พ.ย. – 4 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่อุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 6-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • สำหรับอากาศเย็นและมีหมอกในตอนเช้าเหมาะกับการเกิดโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคแอนแทรกโนสในกาแฟสตรอว์เบอร์รี่ และโรคราน้ำค้างในพืชตระกูลกะหล่ำ เป็นต้นเกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบควรรีบกำจัด
  • ส่วนเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรมาแล้วไม่ควรตากไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายเนื่องจากหมอกและน้ำค้างได้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 28-29 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาวอุณหภูมิต่ำสุด 7-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 30 พ.ย. – 4 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 9-16 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • ระยะนี้จะมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง ขณะผ่านบริเวณที่มีหมอกหนา
  • สำหรับ เกษตรกรที่เก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรมาแล้วไม่ควรตากไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายเนื่องจากหมอกและน้ำค้างได้
  • สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ควรเลือกปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย
ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 28-29 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 30 พ.ย. – 4 ธ.ค. มีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพของตนเองและสัตว์เลี้ยงให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • สำหรับเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทาน ที่ต้องการปลูกพืชควรเลือกปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อยเพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำของพืช

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 28-29 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 30 พ.ย. – 4 ธ.ค. มีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • เนื่องจากระยะนี้และระยะต่อไปปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง เกษตรกรควรใช้น้ำ ที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด และวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงแล้ง
  • ในระยะนี้ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลงเกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 28 พ.ย. – 4 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 28 พ.ย. -4 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้ทางตอนบนของภาคมีปริมาณฝนตกน้อยเกษตรกรควรจัดหาน้ำให้แก่พืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตอย่างเพียงพอ รวมทั้งกำจัดแมลงศัตรูพืชจำพวกเพลี้ยชนิดต่าง ๆ ด้วย
  • ส่วนทางตอนล่างของภาคควรระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนัก ซึ่งอาจทำให้มีน้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูกได้ เกษตรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าวโดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกที่อยู่ในที่ลุ่ม
  • ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูงเกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำในช่วง 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 28 พ.ย. – 4 ธ.ค. 2561

ปริมาณฝนสะสมเดือนพฤศจิกายน (ช่วงวันที่ 1-27 พ.ย.) บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม.สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนสะสม 100-600 มม. โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกของภาคมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 200-600 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา (ช่วงวันที่ 21-27 พ.ย.) บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 25 มม. สำหรับภาคใต้ส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เว้นแต่บริเวณจังหวัดสุราษฏร์ธานีและนครศรีธรรมราชที่มีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 50-150 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม ประเทศไทยมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 20-30 มม. โดยบริเวณภาคกลางและภาคใต้ตอนล่างมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมสูงกว่าบริเวณอื่นๆ

สมดุลน้ำสะสม ประเทศไทยส่วนใหญ่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นลบ คือ (-1) – (-30) มม. เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณภาคใต้ตอนกลางที่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นบวกคือ 1-150 มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยตอนบนปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนน้อง เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่กักเก็บอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ตลอดช่วงแล้ง สำหรับอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงในระยะนี้ เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย สำหรับภาคใต้ยังคงมีฝนต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกของภาคซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าวและจัดระบบระบายน้ำบริเวณแปลงปลูกพืชให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งระวังการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในไม้ผล และพืชผักชนิดต่างๆ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ