พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 18 – 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ข่าวทั่วไป Monday February 18, 2019 15:20 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 18 – 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 21/62

คาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 18-24 ก.พ. ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้นโดยทั่วไปในตอนกลางวัน กับมีหมอก ในตอนเช้า โดยภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงตอนบนยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคใต้ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นบางพื้นที่

ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 18 - 24 ก.พ. กระแสลมฝ่ายตะวันตกพัดปกคลุมภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า ในขณะที่ลมใต้และตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้นโดยทั่วไป และยังคงมีฝน ฟ้าคะนองเกิดขึ้นบางพื้นที่ในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล

คำเตือน ระยะนี้อากาศแปรปรวน เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 18 - 20 ก.พ. 62 อากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอก ในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 12-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-15 กม./ชม.สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 3-14 องศาเซลเซียส ส่วนในวันที่ 21- 24 ก.พ. 62 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และมีอากาศร้อนในตอนกลางวันอุณหภูมิต่ำสุด 16-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 6-15 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว หากเปียกฝนในช่วงที่ผ่านมา เกษตรกรควรลดความชื้นก่อนนำเข้าโรงเก็บ เพื่อป้องกันผลผลิตเน่าเสียหาย ในโรงเก็บ แต่ไม่ควรตากทิ้งไว้กลางแจ้งข้ามคืนเพราะอาจเปียกชื้นเสียหายเนื่องจากหมอกและน้ำค้าง
  • เนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูร้อน อุณหภูมิจะแตกต่างกันมากระหว่างกลางวันและกลางคืน เกษตรกรควรให้ ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอในตอนกลางคืน และดูแลรักษาสุขภาพของตนเองให้แข็งแรง เพื่อป้องกัน การเจ็บป่วย ในช่วงต้นฤดู

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 18 - 20 ก.พ. 62 ทางตอนบนของภาคอากาศเย็น ในตอนเช้า โดยทางตอนล่างของภาคมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 9-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในวันที่ 21- 24 ก.พ. 62 มีเมฆบางส่วนกับหมอกในตอนเช้า และมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 11-16 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้เป็นช่วงต้นฤดูร้อน สภาพอากาศจะแปรปรวน เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกัน การเจ็บป่วย
  • สำหรับฝนที่ตกโดยเฉพาะทางตอนบนของภาคจะช่วยทำให้ความชุ่มชื้นของดินเพิ่มขึ้น เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืช และโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นให้อยู่ภายในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน
  • ส่วนผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้วในระยะ ที่ผ่านมาหากเปียกฝนในช่วงที่ผ่านมาควรลดความชื้นก่อนนำเข้าโรงเก็บ เพื่อป้องกันผลผลิตเน่าเสียหาย ในโรงเก็บ

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 18 - 20 ก.พ. 62 มีเมฆบางส่วนกับฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 21 - 24 ก.พ. 62มีเมฆบางส่วนกับหมอกในตอนเช้า และมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • เนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงในระยะนี้เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย หากร่างกายปรับตัวไม่ทัน
  • สำหรับในช่วงฤดูร้อน ปริมาณและการกระจายของฝนจะมีน้อย พื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทานเกษตรกรควรใช้น้ำ ที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด และวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 18 - 20 ก.พ. 62 มีเมฆบางส่วนกับฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 21 - 24 ก.พ. 62 มีเมฆบางส่วนกับหมอกในตอนเช้า และมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะผลอ่อน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินทำให้ผลผลิตเสียหายและด้อยคุณภาพ
  • เนื่องจากปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย เกษตรกรควรคลุมดินด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น โดยเฉพาะพืชที่อยู่ในระยะ

เจริญเติบโต เพื่อรักษาความชื้นภายในดิน

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก มีเมฆบางส่วน กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ฝั่งตะวันตก มีเมฆบางส่วน กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงนี้จะมีปริมาณฝนน้อยทำให้ความชื้นในดินลดลงโดยเฉพาะทางตอนบนและด้านตะวันตกของภาคเกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชอย่างเหมาะสม และควรใช้น้ำอย่างประหยัด โดยให้น้ำพืชอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงแล้ง
  • ระยะนี้ปริมาณฝนมีน้อย สภาพอากาศแห้ง ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่เพาะปลูก และหลีกเลี่ยงการจุดไฟ

ในบริเวณแปลงปลูกหากมีความจำเป็นต้องจุดไฟควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน

รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 18-24 ก.พ. 2562

ปริมาณฝนสะสมเดือนกุมภาพันธ์ (ช่วงวันที่ 1-17 ก.พ.) บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือตอนล่างด้านตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันออกที่มีปริมาณฝนสะสม 50-100 มม. สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เว้นแต่ทางตอนล่างของภาคที่มีปริมาณฝนสะสม 50-100 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา (ช่วงวันที่ 11-17 ก.พ.)บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือตอนล่างด้านตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันออกที่มีปริมาณฝนสะสม 50-100 มม. สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 25 มม. โดยฝนส่วนใหญ่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของภาค

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม ประเทศไทยส่วนใหญ่มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 20-35 มม. โดยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมสูงกว่าบริเวณอื่นๆ

สมดุลน้ำ ประเทศไทยส่วนใหญ่มีค่าสมดุลน้ำเป็นลบ คือ (-1) - (-40) มม. เว้นแต่บริเวณภาคเหนือตอนล่างด้านตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ที่มีค่าสมดุลน้ำเป็นบวก คือ 1-70 มม.

คำแนะนำ สัปดาห์ที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า บริเวณประเทศไทยตอนบน จะมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาสูงๆ ขณะลมแรง รวมทั้งไม่ควรตากผลผลิต ทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายได้ ระยะนี้เป็นช่วงต้นฤดูร้อนอากาศแปรปรวน เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับภาคใต้ปริมาณฝนมีน้อยไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช เกษตรกรควรให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืชตามความเหมาะสม เพื่อป้องกันต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ