พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 27 มีนาคม – 2 เมษายน พ.ศ. 2562

ข่าวทั่วไป Wednesday March 27, 2019 15:19 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม – 2 เมษายน พ.ศ. 2562

ออกประกาศวันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2562

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 37/62

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 28-31 มี.ค.62 ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนโดยทั่วไป โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในบริเวณประเทศไทย ส่วนในช่วงวันที่ 1-3 เม.ย.62 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยจะมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้นกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ และมีลมกระโชกแรง

ลักษณะสำคัญทาง ในช่วงวันที่ 27-31 มี.ค.62 หย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนโดยทั่วไป ในขณะที่มีคลื่นกระแสลมตะวันตกเคลื่อนผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ส่วนในช่วงวันที่ 1-3 เม.ย.62 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น สำหรับลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้น

คำเตือน ในช่วงวันที่ 1-3 เม.ย.62 บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยจะมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 28-31 มี.ค. อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ส่วนมากทางตอนล่างของภาคอุณหภูมิต่ำสุด 17-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ส่วนในช่วงวันที่ 1-3 เม.ย. มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 20-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 55-65 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้ปริมาณฝนยังมีน้อยและไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช โดยเฉพาะไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล เช่น ลิ้นจี่และลำไย เกษตรกรควรดูแลให้น้ำอย่างเพียงพอ หากขาดน้ำจะทำให้ผลชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตอาจลดลงและด้อยคุณภาพ
  • จากสภาวะอากาศที่ร้อนอบอ้าวในตอนกลางวัน เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ ควรดูแลโรงเรือนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก หรือฉีดน้ำเป็นฝอยภายในโรงเรือน รวมทั้งจัดหาน้ำดื่มให้กับสัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันสัตว์อ่อนแอ และเจ็บป่วยได้ง่าย
  • สำหรับเกษตรกรที่ต้องเตรียมพื้นที่ในการเพาะปลูก รอบใหม่ ควรงดการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร แต่ควรใช้วิธีไถกลบแทน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 28-30 มี.ค. มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่กับมีลมกระโชกแรง อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.

ส่วนในช่วงวันที่ 31 มี.ค. - 3 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 55-65 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • จากสภาวะอากาศที่ร้อนในตอนกลางวัน ทำให้ปริมาณน้ำระเหยมีมาก เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชเพิ่มเติมตามความเหมาะสม รวมทั้งควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืช และโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำ และเป็นการรักษาความชื้นภายในดิน
  • สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ ควรมีแหล่งน้ำสำรองใว้ใช้อย่างเพียงพอ เพราะหากพืชขาดน้ำ จะทำให้ได้ผลผลิตที่ลดลงและด้อยคุณภาพ

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 28 มี.ค. - 1 เม.ย. อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-39 องศาเซลเซียสลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.

ส่วนในช่วงวันที่ 1-3 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงนี้มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน ทำให้การระเหยของน้ำมีมาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืช และโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน และเป็นการรักษาความชื้นภายในดิน
  • ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลจำนวนสัตว์น้ำที่เลี้ยงให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ หากสัตว์น้ำอยู่อย่างแออัดจะทำให้อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • สำหรับเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทาน หากต้องการปลูกพืชในระยะนี้ ควรเลื่อนการเพาะปลูกออกไปก่อน แต่หากมีแหล่งน้ำสำรองและเพียงพอในช่วงแล้ง ควรเลือกปลูกพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย เพื่อป้องกันพืชได้รับน้ำไม่เพียงพอ

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 28-31 มี.ค. อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 1-3 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นต่ากว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • จากสภาวะที่มีฝนตกและหยุดสลับกัน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ
  • สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล เกษตรกรควรดูแลให้น้ำอย่างเพียงพอ หากขาดน้ำจะทำให้ผลชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตอาจลดลงและด้อยคุณภาพ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 27-31 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ากว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 1-3 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตรบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 27-31 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียสลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 1-3 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตรความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ช่วงนี้ปริมาณฝนมีน้อยและไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชตามความเหมาะสม และควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืช และโคนต้นพืช ด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำและเป็นการรักษาความชื้นภายในดิน
  • จากสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งในตอนกลางวัน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืช จำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไร ต่างๆ ศัตรูพืชดังกล่าวจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นพืช ทำให้ต้นทรุดโทรม
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 27 มี.ค. - 2 เม.ย. 2562

ปริมาณฝนสะสมเดือนมีนาคม (ในช่วงวันที่ 1-26 มีนาคม) บริเวณประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เว้นแต่ภาคเหนือด้านตะวันตก ภาคตะวันออกตอนล่าง และภาคใต้ตอนล่างที่มีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 50-200 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่ภาคตะวันออกตอนล่างที่มีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 50-100 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยส่วนมากมีค่าการคายระเหยน้ำสะสม 30-40 มม. โดยภาคเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันออกมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมมากกว่าบริเวณอื่นๆ

สมดุลน้ำ บริเวณประเทศไทยส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำ (-10)-(-40) มม. เว้นแต่ภาคตะวันออกตอนล่างและภาคใต้ฝั่งตะวันตกตอนกลางมีค่าสมดุลน้ำ 1-70 มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด และมีรายงานฝนตกหนักหลายพื้นที่กับมีฝนตกหนักมากบางแห่ง สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศร้อนกับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 1-3 เม.ย. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับภาคใต้จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งตลอดช่วง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ