พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 26 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ข่าวทั่วไป Wednesday June 26, 2019 14:04 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 26 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ออกประกาศวันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2562

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 76/62

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 26 -30 มิ.ย. 62 ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณด้านตะวันตกของภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร และอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 1 – 2 ก.ค. 62 ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 26-30 มิ.ย. 62 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง ส่วนในช่วงวันที่ 1 – 2 ก.ค. 62 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง

คำเตือน ในช่วงวันที่ 26 -30 มิ.ย. 62 บริเวณด้านตะวันตกของภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ จะมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 26 -30 มิ.ย. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 1 – 2 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งอุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้เป็นช่วงที่มีฝนตกน้อย สภาพอากาศค่อนข้างแห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรต่างๆ ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นพืชทำให้ต้นพืชทรุดโทรม ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
  • สำหรับพื้นที่ซึ่งมีฝนตกน้อยโดยเฉพาะทางตอนบนของภาค เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชอย่างเพียงพอโดยเฉพาะพืชที่มีระบบรากตื้น เช่น พืชไร่ และพืชผัก เป็นต้น
  • ในช่วงที่ผ่านมามีฝนตกชุก วัชพืชต่างๆจะเจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรควรกำจัดวัชพืช ในแปลงปลูก เพื่อไม่ให้แย่งน้ำและธาตุอาหารจากพืชที่ปลูก และไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 26 -30 มิ.ย. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 1 – 2 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับปริมาณและการกระจายของฝนที่ลดลง เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงที่มีฝนตกน้อย
  • ในช่วงฤดูฝนศัตรูสัตว์ต่างๆ เช่น ยุง เหลือบ ริ้น ไร เป็นต้น จะเจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูสัตว์ดังกล่าวมารบกวนสัตว์เลี้ยง ซึ่งศัตรูสัตว์บางชนิดยังเป็นพาหะนำโรคมาสู่สัตว์เลี้ยงได้
  • พื้นที่ซึ่งสภาพอากาศค่อนข้างแห้ง โดยเฉพาะทางตอนกลางของภาค เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรต่างๆ ในพืชไร่ พืชผัก ตลอดจนข้าวนาปี ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นพืชทำให้ต้นพืชทรุดโทรม ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 26 -30 มิ.ย. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 1 – 2 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงฤดูฝนแมลงต่างๆจะเจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ควรติดตั้งดวงไฟเหนือบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อล่อให้แมลงตัวเต็มวัยมาเล่นแสงไฟตอนกลางคืนแล้วพลาดตกลงไปในบ่อเลี้ยง เป็นอาหารของสัตว์น้ำได้
  • ในช่วงที่ผ่านมามีฝนตกชุกทำ ให้วัชพืชต่างๆเจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรควรกำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แย่งน้ำและอาหารจากพืชที่ปลูก และเป็นการตัดวงจรชีวิตของโรคและศัตรูพืช เนื่องจากโรคและศัตรูพืชบางชนิดสามารถเจริญเติบโตได้ในวัชพืช
  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทานเกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำ ที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนตกน้อย

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระยะนี้มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วงและมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 26 -30 มิ.ย. 62 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วง 1-2 ก.ค. 62 ลมตะวันตกเฉียงใต้ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรไม่ควรกองสุมวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น เปลือกผลไม้ ผลไม้ที่ร่วงหล่น และเน่าเสีย กองสุมอยู่ภายในบริเวณสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคพืชและศัตรูพืช โดยเฉพาะที่เกิดจากเชื้อราซึ่งมักระบาดในช่วงที่ดินและอากาศมีความชื้นสูง
  • ในช่วงวันที่ 26-30 มิ.ย. บริเวณอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมง ควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 26 -30 มิ.ย. 62 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 1 – 2 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 27-30 มิ.ย. 62 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมา: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตรตั้งแต่จังวัดกระบี่ลงไป: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 1 – 2 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • พื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำ ท่วมในระยะที่ผ่านมาหากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูกนานทำให้รากพืชขาดอากาศต้นพืชตายได้
  • เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีฝนตกชุก ทำให้ดินมีความชื้นสูง โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตก เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราสนิมในกาแฟ โรคหน้ากรีดยาง และโรคราสีชมพู ในยางพารา เป็นต้น
  • สำหรับบริเวณทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตรบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตรชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือ ด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 26 มิ.ย. – 2 ก.ค. 2562

ปริมาณฝนสะสมเดือนมิถุนายน (ในช่วงวันที่ 1-25 มิ.ย.) บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสม 25-300 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่บริเวณภาคตะวันออกตอนล่างที่มีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 300-800 มม. สำหรับภาคใต้ส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสม 50-400 มม. เว้นแต่บริเวณจังหวัดระนอง และพังงา ที่มีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 400-600 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่บริเวณภาคตะวันออกตอนล่างและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ที่มีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 50-200 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยตอนบนมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 25-40 มม. ส่วนภาคใต้มีค่าศักย์ การคายระเหยน้ำสะสม 20-30 มม.

สมดุลน้ำ บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนใหญ่มีค่าสมดุลน้ำ (-1)- (-40) มม. เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือตอนล่างและด้านตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลางด้านตะวันตก และภาคตะวันออกตอนล่างที่มีค่าสมดุลน้ำ 1-150 มม. สำหรับภาคใต้มีค่าสมดุลน้ำ 1-200 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่บริเวณทางตอนล่างของภาคใต้ฝั่งตะวันออก ที่มีค่าสมดุลน้ำ (-1)-(-30) มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่งในภาคใต้ สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า บริเวณประเทศไทยตอนบนปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนน้อย นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในไม้ผล พืชไร่ และพืชผักไว้ด้วย สำหรับภาคใต้ มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางฝั่งตะวันตกของภาค เกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหาย จากสภาวะฝนที่ตกหนัก รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในไม้ผล และพืชผัก ไว้ด้วย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ