พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 1 – 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ข่าวทั่วไป Monday July 1, 2019 13:22 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 1 – 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 78/62

การคาดหมายลักษณะอากาศ ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 2-4 ก.ค.62 จะมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก และจะมีฝนตกหนักมากบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร และอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ตลอดช่วง

ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 2-4 ก.ค.62 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและประเทศลาวเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน คาดว่าหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงนี้จะเคลื่อนเข้าปกคลุมอ่าวตังเกี๋ยและประเทศเวียดนามตอนบนในระยะต่อไป ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยตลอดช่วง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง

คำเตือน ในช่วงวันที่ 2-4 ก.ค. จะมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก เกษตรกรควรระวังและป้องกันอันตรายจากสภาวะฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรงตลอดช่วง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง โดยเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งตลอดช่วง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในระยะนี้จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม
  • สำหรับชาวนาที่ปลูกข้าว และอยู่ในระยะต้นกล้า ควรเสริมคันนา และทำระบบระบายน้ำในแปลงนาให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมต้นกล้า เมื่อมีฝนตกหนัก
  • เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ เช่น โค และกระบือ เป็นต้น ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 2-4 ก.ค.62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในช่วงวันที่ 5-7 ก.ค.62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงวันที่ 2-4 ก.ค. จะมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยจัดทำระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตร เมื่อมีฝนตกหนัก
  • จากสภาวะที่มีฝนตกติดต่อกัน ทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ และพืขผักต่างๆ โดยหมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบการระบาดควรรีบควบคุมก่อนจะขยายเป็นวงกว้าง
  • ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในวันที่ 2 ก.ค. และช่วงวันที่ 6-7 ก.ค.62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ในช่วงวันที่ 3-5 ก.ค.62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงวันที่ 3-5 ก.ค. จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับพืชผลทางการเกษตร โดยดูแลระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังแปลงปลูก เมื่อมีฝนตกหนัก
  • ในระยะที่มีฝนตกชุก เกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลัง ควรเฝ้าระวังโรคโคนเน่าหัวเน่า โดยหมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบให้ขุดถอนต้นที่แสดงอาการไปเผาทำลาย
  • สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกนอกพื้นที่ไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตรบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยดูแลพื้นที่เพาะปลูกให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก และแสงแดดส่องได้ทั่วถึง เพื่อเป็นการป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา
  • สำหรับเกษตรกรที่ปลูกทุเรียน ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่น หนอนเจาะลำต้น และหนอนกินใบ เป็นต้น
  • สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมง ควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร

ตั้งแต่จังวัดกระบี่ลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในระยะนี้ปริมาณและการรกะจายของฝนลดลง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่น หนอนเจาะลำต้น หนอนกินใบในทุเรียนและมังคุด เป็นต้น
  • สำหรับเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทานควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนน้อย
  • สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือ ด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้
รายงานลักษณะอากาศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 24-30 มิถุนายน 2562 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนตลอดสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนาแน่น โดยเฉพาะบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออก ส่วนภาคใต้มีฝนส่วนมากในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์

ภาคเหนือ มีฝนร้อยละ 40-80 ของพื้นที่ตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 20-60 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง ภาคกลาง มีฝนร้อยละ 40-60 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 24 และ 28 มิ.ย. มีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง ภาคตะวันออก มีฝนร้อยละ 65-90 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 40-80 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง คใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนร้อยละ 50-80 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานฝนตกหนักมากจังหวัดบริเวณหนองคาย ชัยนาท สุพรรณบุรี กรุงเทพมหานคร นครปฐม และตราด สำหรับบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนักได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน ตาก พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม ขอนแก่น นครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี นนทบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี สุราษฎร์ธานี ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา ตรัง และสตูล

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ