พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 15 – 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ข่าวทั่วไป Monday July 15, 2019 13:40 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 15 – 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 84/62

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 16 - 21 ก.ค. 62 ประเทศไทยมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้ และภาคตะวันออก สำหรับทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร และอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 16 - 21 ก.ค. 62 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้และภาคตะวันออก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง

คำเตือน ในช่วงวันที่ 16 - 21 ก.ค. บริเวณภาคใต้และภาคตะวันออกจะมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหาย จากสภาวะดังกล่าว สำหรับบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือ ด้วยความระมัดระวัง และควรหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 15 - 16 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 17 -21 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • พื้นที่ซึ่งมีฝนตกน้อย โดยเฉพาะตอนกลางและตอนล่างของภาค เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะพืชที่มีระบบรากตื้น เช่น พืชไร่และพืชผัก เป็นต้น เพราะหากขาดน้ำจะทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ
  • เนื่องจากฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชเสียหาย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 16 - 21 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางด้านตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับพื้นที่ซึ่งมีปริมาณฝนน้อยสภาพอากาศแห้งโดยเฉพาะด้านตะวันตกของภาค เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรต่างๆ ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต และทรุดโทรม
  • เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีฝนตกชุก วัชพืชต่างๆจะเจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรควรกำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แย่งน้ำและธาตุอาหารจากพืชที่ปลูก และไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยหลบซ่อนของโรคและศัตรูพืช

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 16 - 21 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก เฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงฤดูฝนแมลงและศัตรูสัตว์ต่างๆ เช่น ยุง เหลือบ ริ้น และไรต่างๆ เจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้ศัตรูสัตว์ดังกล่าวมารบกวนสัตว์เลี้ยง เพราะจะทำให้สัตว์ชะงักการเจริญเติบโต และศัตรูสัตว์บางชนิดยังเป็นพาหะนำโรคมาสู่สัตว์เลี้ยงได้
  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดเตรียมวัสดุสำหรับกั้นขอบบ่อและอุปกรณ์สำหรับสูบน้ำเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน เมื่อมีฝนตกหนัก

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 16 - 21 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากว่า 2 เมตร อุณหภูมิ ต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับสวนผลไม้ที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของ โรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะ โรครากเน่าโคนเน่า ในไม้ผล ซึ่งมักระบาดในช่วงที่ดินมีความชื้นสูง
  • ส่วนชาวสวนยางพารา ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกัน ชาวสวนควรระวัง และป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคหน้ากรีดยาง โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า เป็นต้น โดยดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก บริเวณแปลงปลูกไม่อับชื้น

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 16 – 21 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 16 – 21 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ฝนที่ตกในระยะนี้จะเป็นผลดีกับไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล ซึ่งจะทำให้ผลโตเร็วและสมบูรณ์ขึ้น แต่ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนไว้ด้วย
  • แม้ปริมาณฝนจะลดลงแต่ความชื้นในดินยังคงมีอยู่ ชาวสวนยางพารา ยังคงต้องระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราสีชมพู และโรครากขาว ในยางพารา เป็นต้น
  • ในช่วงวันที่ 16-21 ก.ค. บริเวณทะเลอันดามัน จะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 15-21 ก.ค. 2562

ปริมาณฝนสะสมเดือนกรกฎาคม (ในช่วงวันที่ 1-11 ก.ค.) บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือด้านตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันออก และภาคตะวันออกตอนบนกับตอนล่างของภาคมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 200-300 มม. สำหรับภาคใต้ส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม เว้นแต่ทางตอนล่างของภาคที่มีปริมาณฝนสะสม 50-150 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่ในบางพื้นที่ของภาคตะวันออกบริเวณจังหวัดจันทบุรีและตราด และภาคใต้บริเวณจังหวัดยะลา ที่มีปริมาณฝนสะสม 100-150 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม ประเทศไทยมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 20-35 มม. เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนล่างด้านตะวันออก และภาคตะวันออกตอนบน ที่มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 35-40 มม.

สมดุลน้ำ บริเวณประเทศไทยส่วนใหญ่มีค่าสมดุลน้ำ (-1)-(-40) มม. เว้นแต่ในภาคเหนือด้านตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างด้านตะวันออก ภาคกลางตอนบนด้านตะวันออกและด้านตะวันตก ภาคตะวันออกตอนล่าง และภาคใต้ตอนล่าง ที่มีค่าสมดุลน้ำ 1-150 มม.

คำแนะนำ สัปดาห์ที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยมีรายงานฝนตกหนักหลายพื้นที่ สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า ประเทศไทยจะมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้น กับจะมีฝนตกหนักบางพื้นที่ส่วนมากบริเวณภาคใต้และภาคตะวันออก แต่การกระจายไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก สำหรับพื้นที่ซึ่งมีปริมาณฝนน้อย โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบนด้านตะวันออก เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันพืชขาดน้ำ ซึ่งจะทำให้พืชเหี่ยวเฉา ต้นชะงักการเจริญเติบโตได้ 3

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ