พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า 9 - 15 กันยายน พ.ศ. 2562

ข่าวทั่วไป Monday September 9, 2019 15:02 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 9 - 15 กันยายน พ.ศ. 2562

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2562

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 108/62

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 9 - 11 ก.ย. ประเทศไทยมีปริมาณฝนลดลง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบน และอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 12 - 15 ก.ย. ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

คำเตือน ในช่วงวันที่ 11 - 15 ก.ย. บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะฝนที่ตกหนักและฝนตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับบริเวณทะเล อันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ โดยเฉพาะบริเวณที่มีฝน ฟ้าคะนอง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 9 - 10 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 11-15 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

  • สำหรับทางตอนบนของภาคปริมาณของฝนจะเริ่มลดลง เกษตรกรควรเริ่มกักเก็บน้ำเอาไว้ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตร ส่วนทางตอนล่างของภาคซึ่งยังคงมีฝนตก เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 9 - 10 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 11-15 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

  • สำหรับพื้นที่ซึ่งถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมาหากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบพื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม และไม่ควรนำเครื่องจักรกลขนาดหนักเข้าไปในบริเวณสวน เพราะอาจติดหล่มและทำให้รากพืชเสียหายได้

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 9 - 12 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 13-15 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ระยะนี้ยังคงมีฝนตลอดช่วง พื้นที่ซึ่งมีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผล พืชผัก และไม้ดอก เป็นต้น ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 10 - 12 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1- 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 13-15 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • พื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้น้ำขังในพื้นที่เพาะปลูกและโคนต้นพืชเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้ ส่วนในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคใบยางร่วงลูกยางเน่าในยางพารา เป็นต้น

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 10 - 12 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1 - 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 13-15 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 10 - 12 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1- 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 13-15 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเล มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

  • ระยะนี้ภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณและการกระจายของฝนมากกว่าทางฝั่งตะวันออกกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราสนิมในกาแฟ โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยางในยางพารา เป็นต้น ส่วนไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรไม่ควรกองสุมเปลือกและผลที่เน่าเสีย ไว้ในบริเวณสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 2 - 8 กันยายน 2562 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในระยะต้นและกลางสัปดาห์ โดยพาดเข้าสู่พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนในวันแรกของสัปดาห์ ซึ่งต่อมาพายุดีเปรสชันนี้ได้ทวีกำลังแรงขึ้น เป็นพายุโซนร้อน “คาจิกิ(KAJIKI(1914))” และเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลางในช่วงเช้าของวันที่ 3 ก.ย. จากนั้นพายุนี้ได้เคลื่อนเข้าสู่ประเทศลาวตอนใต้ ก่อนจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันบริเวณเมืองสาละวัน ประเทศลาวในช่วงเย็นของวันเดียวกัน ต่อจากนั้นพายุนี้ได้เคลื่อนตัววกกลับไปทางประเทศเวียดนามอีกครั้งแล้วจึงเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบนในช่วงค่ำ ของวันเดียวกันและเคลื่อนตัวห่างออกไป โดยพายุลูกนี้ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในช่วงเช้าของวันที่ 4 ก.ย. และปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นอ่อนกำลังลง ลักษณะดังกล่าวทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนาแน่น ส่วนมาก ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่มบางพื้นที่

ภาคเหนือ มีฝนร้อยละ 75-90 ของพื้นที่ในระยะต้นสัปดาห์ กับมีฝนหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ จากนั้นมีฝนลดลงอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง โดยมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลกและเพชรบูรณ์ในวันที่ 2 ก.ย. จังหวัดสุโขทัยในวันที่ 3 ก.ย. กับมีรายงานดินถล่มบริเวณจังหวัดเชียงใหม่และลำปางในวันที่ 2 ก.ย. และมีรายงานน้ำล้นตลิ่งบริเวณจังหวัดเชียงใหม่และน่านในวันที่ 2 ก.ย. และจังหวัดเพชรบูรณ์ในวันที่ 3 ก.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนมากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ กับมีฝนหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ จากนั้นมีฝนลดลงอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 30-50 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง โดยมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดขอนแก่นในวันที่ 2 ก.ย. จังหวัดศรีสะเกษ นครพนม และสกลนครในวันที่ 3 ก.ย. กับมีรายงานน้ำล้นตลิ่งบริเวณจังหวัดเลยในวันที่ 2 ก.ย. ภาคกลาง มีฝนมากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่ในระยะต้นสัปดาห์ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง จากนั้นมีฝนร้อยละ 10-60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง ภาคตะวันออก มีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง จากนั้นมีฝนร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 5-50 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในวันสุดท้ายของสัปดาห์มีฝนร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนร้อยละ 10-40 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง เว้นแต่ในวันสุดท้ายของสัปดาห์มีฝนร้อยละ 65 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ