พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า 20 - 26 กันยายน พ.ศ. 2562

ข่าวทั่วไป Friday September 20, 2019 14:32 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 20 - 26 กันยายน พ.ศ. 2562

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2562

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 113/62

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 20 - 21 ก.ย. บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง โดยมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่ง สำหรับภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนในช่วงวันที่ 22 - 23 ก.ย. บริเวณภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน มีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนลดลง หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 24-26 ก.ย. ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีอากาศเย็นในตอนเช้า โดยอุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 20-26 ก.ย.บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

คำเตือน ในช่วงวันที่ 20 - 22 ก.ย. ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ระวังอันตรายจากฝนตกหนัก และฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย ควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 20 - 21 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมแปรปรวน ความเร็ว10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 22 - 26 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ และมีอุณหภูมิลดลง 2-3 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ระยะนี้อากาศเริ่มเปลี่ยนแปลงโดยอุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลสุขภาพสัตว์ให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย รวมทั้งให้วัคซีนป้องกันโรคที่จะเกิดในฤดูหนาว ส่วนฝนที่ตกในระยะนี้เกษตรกรควรกักเก็บน้ำไว้ใช้ทางด้านการเกษตร รวมทั้งวางแผนการใช้น้ำที่กักเก็บอย่างมีประสิทธิภาพจะได้มีน้ำใช้ในช่วงแล้ง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 20 - 21 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักกับลมกระโชกแรงบางแห่ง ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 22 – 26 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค และมีอุณหภูมิลดลง 3-5 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • พื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วมขังในระยะที่ผ่านมา หากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบพื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้กลับมาใช้งานได้ดีดังเดิม สำหรับสภาพอากาศที่เริ่มเปลี่ยนแปลงโดยอุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียสเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลสุขภาพสัตว์ให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย รวมทั้งให้วัคซีนป้องกันโรคที่จะเกิดในฤดูหนาว

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 20 - 22 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 23 - 26 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.ความชื้น สัมพัทธ์ 75-85 %

  • ช่วงวันที่ 21-22 ก.ย. จะมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรปรับปรุงระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังแปลงปลูก เมื่อมีฝนตกหนัก ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 20 - 22 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 23 - 26 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

  • ระยะนี้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก นอกจากนี้ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ไม่ควรให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อเพราะอาจทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 20 - 21 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบนของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 22 - 26 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 20 - 21 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 22 - 26 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

  • ระยะนี้ภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะทางตอนบนของภาคใต้ฝั่งตะวันออกและทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคหน้ากรีดยางในยางพารา และโรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล เป็นต้น อนึ่ง ในระยะนี้ บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
รายงานลักษณะอากาศในระยะ 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 13 - 19 กันยายน 2562 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก โดยพาดเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางในระยะต้นช่วง จากนั้นร่องมรสุมได้เลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออกเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศกัมพูชา โดยในวันสุดท้ายของช่วงร่องมรสุมได้เลื่อนขึ้นมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางและยังคงพาดเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณภาคตะวันออกและประเทศกัมพูชา ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงตลอดช่วง ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยมีปริมาณและการกระจายของฝนเพิ่มขึ้นจากช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนาแน่นเกือบตลอดช่วงกับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง

ภาคเหนือ มีฝนร้อยละ 5-50 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 14, 18 และ 19 ก.ย. มีฝนร้อยละ 70-90 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดพิจิตรในวันที่ 17 ก.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 10 - 40 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในวันแรกและวันสุดท้ายของช่วง มีฝนร้อยละ 60-90 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยมีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร และร้อยเอ็ด ภาคกลาง มีฝนร้อยละ 65-90 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 15 และ 16 ก.ย. มีฝนร้อยละ 40-50 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางแห่งในวันที่ 14, 16 และ 19 ก.ย. ภาคตะวันออก มีฝนมากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 16 ก.ย. มีฝนร้อยละ 50 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางแห่งในระยะครึ่งแรกของช่วง กับมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดจันทบุรีและตราดในวันที่ 15 ก.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 45-60 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 14 และ 15 ก.ย. มีฝนร้อยละ 90 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง เว้นแต่ในวันสุดท้ายของช่วงมีฝนร้อยละ 50 ของพื้นที่

ช่วงที่ผ่านมามีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดเชียงราย ชัยภูมิ นครราชสีมา สุรินทร์ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี จันทบุรี ตราด และระนอง สำหรับบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เลย ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ยโสธร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรปราการ ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี ยะลา นราธิวาส พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ