พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 25 กุมภาพันธ์ 2551 - 02 มีนาคม 2551

ข่าวทั่วไป Monday February 25, 2008 17:00 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ 
ระหว่าง 25 กุมภาพันธ์ 2551 - 02 มีนาคม 2551
ภาคเหนือ
มีหมอกในตอนเช้า กับมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อากาศหนาวทางตอนบนของภาค ส่วนทางตอนล่างของภาคอากาศเย็น สำหรับบริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด ในช่วงวันที่ 26-29 ก.พ.มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆในระยะแรก อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส เกษตรกรควรระมัดระวังอันตรายในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนา นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตไว้กลางแจ้ง เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายได้ สำหรับไม้ผลที่ติดผลแล้ว เกษตรกรควรระวังและป้องกันหนอนเจาะ ขั้วผลที่อาจระบาด และทำลายผลผลิต
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 25-26 ก.พ. มีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส แต่ยังคงมีอากาศเย็นกับมีฝนบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว ในช่วงวันที่ 27 ก.พ.- 2 มี.ค. อุณหภูมิจะลดลง 2-5 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง และจะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอากาศ สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลอุณหภูมิและสภาพน้ำไม่ให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วจนเกินไป เพราะอาจทำให้สัตว์เครียด อ่อนแอ และเกิดโรคได้ง่าย
ภาคกลาง
มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆเกือบตลอดสัปดาห์ ในช่วงวันที่ 25-27 ก.พ.อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า ในช่วงวันที่ 28 ก.พ.- 2 มี.ค.อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส เนื่องจากระยะนี้เป็นช่วงที่เปลี่ยนแปลงฤดูกาลจากฤดูหนาวเข้าฤดูร้อนอากาศจะแปรปรวน เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยเนื่องจากร่างกายปรับตัวไม่ทัน นอกจากนี้ควรดูแลให้น้ำแก่พืชอย่างเพียงพอเพราะหากขาดน้ำจะทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 25-27 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ตามบริเวณเทือกเขาและชายฝั่ง ในช่วงวันที่ 28 ก.พ.- 2 มี.ค.อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส โดยจะมีอากาศเย็นทางตอนบนของภาคกับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งส่วนมากตามบริเวณชายฝั่ง บริเวณที่มีฝนตกน้อย เกษตรกรควรให้น้ำแก่ไม้ผลที่อยู่ในระยะผลอ่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ผลผลิตด้อยคุณภาพ นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด ซึ่งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย จะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้พืชทรุดโทรม
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ในช่วงวันที่ 25-29 ก.พ.มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ต่อจากนั้นฝนจะลดลง สำหรับบริเวณ ที่มีฝนตกเกษตรกรควรเก็บกักน้ำเอาไว้ใช้ในช่วงแล้ง ส่วนชาวสวนยางพาราควรระวังป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบสวน อนึ่ง ในช่วงวันที่ 27 ก.พ.- 2 มี.ค.คลื่นลมในอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้นโดยมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวประมงในอ่าวไทยระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ