พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 29 กุมภาพันธ์ 2551 - 06 มีนาคม 2551

ข่าวทั่วไป Friday February 29, 2008 15:36 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ 
ระหว่าง 29 กุมภาพันธ์ 2551 - 06 มีนาคม 2551
ภาคเหนือ
มีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ทำให้มีอากาศหนาวทางตอนบนของภาค ส่วนทางตอนล่างมีอากาศเย็น สำหรับบริเวณยอดดอยมีอากาศหนาว ในวันที่ 29 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ส่วนมากทางตอนบนของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 3-6 มี.ค. จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง และอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ทำให้มีอากาศหนาวทางตอนบนของภาค เนื่องจากอุณหภูมิจะแตกต่างกันมากระหว่างกลางวันและกลางคืน เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะติดผล ชาวสวนควรให้น้ำแก่พืชอย่างเพียงพอ เพราะหากขาดน้ำจะทำให้ผลชะงักการเจริญเติบโต
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีหมอกบางในตอนเช้า ในช่วงวันที่ 1-3 มี.ค.อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ทำให้มีอากาศหนาวทางตอนนของภาค ส่วนทางตอนล่างของภาคอากาศเย็น สำหรับบริเวณยอดภูมีอากาศหนาวและ มีฝนบางพื้นที่ส่วนมากในช่วงวันที่ 29 ก.พ. — 1 มี.ค. ช่วงนี้อยู่ในระยะเปลี่ยนฤดูกาล อากาศจะแปรปรวนมาก เกษตรกรควรรักษาสุขภาพของตนเองและสัตว์เลี้ยงให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย เนื่องจากร่างกายปรับตัวไม่ทัน นอกจากนี้ควรวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ตลอดช่วงแล้ง
ภาคกลาง
อากาศเย็นส่วนมากทางตอนบนของภาค และมีฝนบางแห่ง อย่างไรก็ดีความชื้นที่เพิ่มขึ้นอาจจะ ไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช เกษตรกรจึงควรคลุมบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เพื่อรักษาความชื้นดิน ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่มักระบาดในหน้าแล้งให้กับสัตว์เลี้ยง
ภาคตะวันออก
อากาศเย็นบางพื้นที่ในตอนเช้า และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนมากตามบริเวณชายฝั่ง สำหรับพืชไร่ เช่น ถั่วเขียวและถั่วลิสงหากอยู่ในระยะออกดอก เกษตรกรควรให้น้ำอย่างเพียงพอ เนื่องจากระยะนี้ มีความต้องการน้ำมากกว่าระยะอื่นๆ เมื่อขาดน้ำจะทำให้ผลผลิตลดลง นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ ในพืชไร่และไม้ผล
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
มีฝนฟ้าคะนองกระจายในช่วงวันที่ 29 ก.พ. — 1 มี.ค. และมีฝนตกหนักบางแห่งทางฝั่งตะวันออก ของภาค ต่อจากนั้นฝนจะลดลง สำหรับบริเวณที่มีฝนตกหนักอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณจังหวัด สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เกษตรกรจึงควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ส่วนยางพาราที่อยู่ในระยะแตกใบอ่อน ชาวสวนควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา อนึ่ง ในช่วงนี้คลื่นลมในอ่าวไทยโดยเฉพาะตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปจะมีกำลังแรงโดยมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ผู้ที่เพาะเลี้ยง สัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งควรระวังและป้องกันความเสียหายเนื่องจากสภาวะคลื่นลมแรง ชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ