พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า 16 – 22 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ข่าวทั่วไป Monday December 16, 2019 15:24 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 16 – 22 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2562

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 150/62

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 16-22 ธ.ค.62 ประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ แต่ยังคงมีอากาศเย็นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิต่ำสุด 16-23 องศาเซลเซียส ส่วนบริเวณยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 5-15 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณภาคใต้ตอนล่างจะมีฝนเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 16-18 ธ.ค.62 และคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 19-22 ธ.ค. 62 มีฝนลดลง และคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังอ่อนลง

คำเตือน บริเวณประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิจะสูงขึ้น กับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาบางพื้นที่ เกษตรกรควรเพิ่มความระมัดระวังขณะสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนาไว้ด้วย อนึ่ง ในช่วงวันที่ 16-18 ธันวาคม 62 ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

บริเวณพื้นราบอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 19 - 20 ธ.ค. 62 มีฝนบางแห่งทางตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 16-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 5-10 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

  • ระยะนี้อุณหภูมิจะสูงขึ้น กับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาบางพื้นที่ เกษตรกรควรเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนาไว้ด้วย สำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว ไม่ควรตากไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายจากหมอกและน้ำค้างได้ นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราน้ำค้างในพืชตระกลูแตง เป็นต้น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

บริเวณพื้นราบอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 16-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 50-60 %

  • ระยะนี้อุณหภูมิจะสูงขึ้น กับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาบางพื้นที่ เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เนื่องจากอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนาไว้ด้วย ส่วนผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว ไม่ควรตากไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายจากหมอกและน้ำค้างได้ สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลปริมาณน้ำให้เหมาะสมกับจำนวนสัตว์น้ำที่เลี้ยง หากปริมาณน้ำมีน้อย จะทำให้สัตว์น้ำอยู่อย่างแออัด ส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีเมฆบางส่วนกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส ตลอดช่วงอุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิจะสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาบางพื้นที่ เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เนื่องจากอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนาไว้ด้วย นอกจากนี้เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ตลอดช่วงแล้ง

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีเมฆบางส่วนกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส ตลอดช่วงอุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิจะสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาบางพื้นที่ เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะเตรียมตัวออกดอก เกษตรกรควรงดให้น้ำและรอจนเห็นดอกชัดเจนแล้วจึงค่อยให้น้ำ โดยให้ในปริมาณที่น้อยก่อนแล้วค่อยเพิ่มปริมาณขึ้น ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลปริมาณน้ำให้เหมาะสมกับจำนวนสัตว์น้ำที่เลี้ยง หากปริมาณน้ำมีน้อย จะทำให้สัตว์น้ำอยู่อย่างแออัด ส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออกในช่วงวันที่ 17-18 ธ.ค.62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ และมีฝนหนักบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ในช่วงวันที่ 19-22 ธ.ค.62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ทางตอนบนของภาคปริมาณฝนมีน้อย เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่กักเก็บไว้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ตลอดช่วงแล้ง ส่วนทางตอนล่างของภาคยังคงมีฝนตกบางแห่งตลอดช่วง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผลไว้ด้วย อนึ่ง บริเวณอ่าวไทยตอนล่างจะมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมง เดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
ลักษณะอากาศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 9-15 ธันวาคม 2562 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยและทะเลจีนใต้ในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ในระยะต้นสัปดาห์ แล้วอ่อนกำลังลง โดยมีลมตะวันออกพัดปกคลุมภาคใต้ในวันสุดท้ายของสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นทั่วไปในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ โดยเฉพาะภาคเหนือมีอากาศหนาวจัดหลายพื้นที่ หลังจากนั้นหลายพื้นที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น ส่วนภาคใต้มีอากาศเย็นในหลายพื้นที่ กับมีฝนส่วนมากทางฝั่งตะวันออกของภาค

ภาคเหนือ มีอากาศหนาวทั่วไปในระยะต้นและกลางสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศหนาวในหลายพื้นที่ โดยมีอากาศหนาวจัดหลายพื้นที่ส่วนมากทางตอนบนของภาคในระยะต้นสัปดาห์ สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด และมีรายงานน้ำค้างแข็งบริเวณดอยอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 9 ธ.ค. บริเวณอุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้า จังหวัดเชียงรายในวันที่ 9 และ 10 ธ.ค. บริเวณยอดดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 10 ธ.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศหนาวทั่วไปในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศหนาวในหลายพื้นที่ โดยมีอากาศหนาวจัดบริเวณจังหวัดนครพนมในวันที่ 10 ธ.ค. สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด ภาคกลาง มีอากาศเย็นทั่วไปตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศหนาวหลายพื้นที่ ส่วนมากในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ ภาคตะวันออกมีอากาศเย็นทั่วไปกับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ทางตอนบนในระยะต้นและกลางสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศเย็นในหลายพื้นที่ ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศหนาวบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ โดยตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปมีฝนร้อยละ 15-25 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีฝนร้อยละ 40-65 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งในวันสุดท้ายของสัปดาห์ ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศเย็นบางพื้นที่ตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 10-25 ของพื้นที่ในวันที่ 13 และ 14 ธ.ค. และมีฝนร้อยละ 75 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งในวันสุดท้ายของสัปดาห์

ช่วง 7 วันที่ผ่านมา ภาคใต้มีรายงานฝนตกหนักบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง นราธิวาสและตรัง โดยปริมาณฝนสูงสุด วัดได้ 48.6 มม. ที่ อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ