พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 7 - 13 มีนาคม 2551

ข่าวทั่วไป Friday March 7, 2008 14:50 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ 
ระหว่าง 07 มีนาคม 2551 - 13 มีนาคม 2551
ภาคเหนือ
มีหมอกในตอนเช้า อากาศหนาวทางตอนบนของภาค ส่วนทางตอนล่างมีอากาศเย็น สำหรับบริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด ส่วนในช่วงวันที่ 7-8 มี.ค. จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งทางตอนบนของภาค สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกพืชผักรอบใหม่ในระยะนี้ควรวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งควรนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรคลุมบริเวณแปลงปลูก เพื่อรักษาความชื้นในดิน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีหมอกบางในตอนเช้า และอากาศเย็น สำหรับบริเวณยอดภูมีอากาศหนาว ในช่วงวันที่ 7-8 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งทางตอนล่างของภาค และในช่วงวันที่ 10-13 มี.ค. อุณหภูมิจะสูงขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิอากาศค่อนข้างแปรปรวน ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลสภาพน้ำอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว รวมทั้งควรรักษาสมดุลของน้ำและปริมาณสัตว์น้ำให้เหมาะสม เพื่อป้องกันสัตว์เครียด อ่อนแอและติดเชื้อได้ง่าย
ภาคกลาง
มีหมอกในตอนเช้าและอากาศเย็นทางตอนบนของภาค ในช่วงวันที่ 7-8 มี.ค. จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง และในช่วงวันที่ 9-13 มี.ค. อุณหภูมิจะสูงขึ้น และมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน เนื่องจากระยะนี้อากาศแปรปรวน อาจทำให้สัตว์เครียด และเจ็บป่วยได้ง่าย ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรหมั่นสังเกตสัตว์ที่เลี้ยง หากพบสัตว์ป่วยควรรีบแยกออกจากกลุ่มแล้วทำการรักษา เพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่ไปยังตัวอื่นๆ สำหรับระยะต่อไปจะเข้าสู่ฤดูร้อนซึ่งจะมีแดดจัด ผู้ที่ปลูกกล้วยไม้ควรพรางแสงและเพิ่มความชื้นภายในโรงเรือน
ภาคตะวันออก
มีหมอกในตอนเช้าและอากาศเย็นทางตอนบนของภาค ในช่วงวันที่ 7-8 มี.ค. จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง และในช่วงวันที่ 9-13 มี.ค. อุณหภูมิจะสูงขึ้นและมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ ในพืชไร่และไม้ผล ซึ่งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ต้นพืชทรุดโทรม ส่งผลให้ผลผลิตลดลง นอกจากนี้เกษตรกรควรใช้น้ำอย่างประหยัด และวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงแล้งในระยะต่อไป
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่ง ๆ เว้นแต่ในช่วงวันที่ 7-9 มี.ค. และ 12-13 มี.ค. จะมีฝนฟ้าคะนองกระจาย และมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดสุราษฏร์ธานีลงไปถึงนราธิวาส บริเวณที่มีฝนตก เกษตรกรควรเก็บกักสำรองน้ำเอาไว้ใช้ แต่บริเวณทางตอนบนของภาคมีสภาพอากาศแห้ง แดดร้อนจัด ทำให้น้ำระเหยได้มาก ดังนั้นจึงควรคลุมบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อรักษาความชื้นดิน สำหรับบริเวณสวนยางพาราอยู่ในระยะแตกใบอ่อนและมีฝนตก เกษตรกรควรระวังป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา อนึ่ง ในช่วงวันที่ 7-9 มี.ค. บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวประมงโดยเฉพาะตั้งแต่จังหวัดสุราษฏร์ธานีลงไประมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ