พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 1 - 7 เมษายน พ.ศ.2563

ข่าวทั่วไป Wednesday April 1, 2020 14:54 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 1 - 7 เมษายน พ.ศ.2563

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ.2563

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 40/63

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 1 - 5 เม. ย. 63 ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและมีลมกระโชกแรง รวมทั้งอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง สำหรับภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนในช่วงวันที่ 6 - 7 เม. ย. 63 บริเวณประเทศไทยจะมีอากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีอากาศร้อนจัด บางพื้นที่ในภาคเหนือและภาคกลาง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกยังคงมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงเกิดขึ้น สำหรับภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

คำเตือน ในช่วงวันที่ 1 - 5 เม.ย. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงลูกเห็บตก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งขณะฟ้าคะนอง และไม่ควรเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาสูงๆ ขณะลมแรง

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 1-2 และ 6 - 7 เม.ย. 63 อากาศร้อนโดยทั่วไปและมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่ กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 37-42 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 3 - 5 เม.ย. 63 อากาศร้อนถึงร้อนจัด โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางแห่ง ส่วนมากทางด้านตะวันออกและทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 37-40 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 55-65 %

  • ในช่วงวันที่ 1-5 เม.ย. จะมีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาสูงๆขณะลมแรง เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัยและไฟป่า โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่การเกษตร และหลีกเลี่ยงการจุดไฟหากมีความจำเป็นต้องจุดไฟควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรต่างๆ ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืช ทำให้พืชทรุดโทรม ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 1 - 5 เม.ย. 63 อากาศร้อนถึงร้อนจัด โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 37-40 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 6 - 7 เม.ย. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

  • ในช่วงวันที่ 1-5 เม.ย. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง และไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่โล่งขณะฟ้าคะนอง ระยะนี้น้ำระเหยมีมาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืช และโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 1-2 และ 6 - 7 เม.ย. 63 อากาศร้อนถึงร้อนจัด โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 38-42 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในวันที่ 3 - 5 เม.ย. 63 อากาศร้อน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-39 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

  • ในช่วงวันที่ 1-5 เม.ย. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาสูงๆ ขณะลมแรง เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์โดยดูแลโรงเรือนให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกทั้งในแนวตั้งและแนวดิ่ง โดยอาจใช้พัดลมเป่าและดูดอากาศเข้าช่วย หากทำได้ควรใช้พลังงานแสงอาทิตย์ก็จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ หรือฉีดน้ำเป็นฝอยบริเวณโรงเรือนหรือฉีดน้ำบริเวณหลังคา

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 1 - 5 เม.ย. 63 อากาศร้อน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 - 40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 6 - 7 เม.ย. 63 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 - 30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ในช่วงวันที่ 1-5 เม.ย. จะมีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยสำรวจวัสดุและอุปกรณ์ที่ผูกยึดค้ำยันกิ่งและลำต้นไม้ผลให้มีความมั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งไม้ผลฉีกหัก และต้นโค่นล้ม เมื่อมีลมแรง นอกจากนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 2 - 5 เม.ย. 63 อากาศร้อน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 6 - 7 เม.ย. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ฝั่งตะวันตก อากาศร้อน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ระยะนี้ แม้จะมีฝนตกแต่ปริมาณและการกระจายยังไม่มาก เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะพืชที่มีระบบรากตื้น แต่ควรคำนึงถึงการใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรต่างๆ ในพืชสวนและพืชผักซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชทำให้ทรุดโทรม ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ ส่วนไม้ผลที่อยู่ในระยะออกดอกเกษตรกรควรงดให้น้ำรอจนเห็นดอกที่ชัดเจนแล้วจึงค่อยให้น้ำโดยให้ในปริมาณที่น้อยก่อนแล้วค่อยเพิ่มปริมาณขึ้น
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 25-31 มีนาคม 2563 บริเวณประเทศไทยไม่มีรายงานฝนตกหนักมาก ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ มุกดาหาร มหาสารคาม นครราชสีมา สระแก้ว จันทบุรี และตราด

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ