พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน - 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ข่าวทั่วไป Monday June 29, 2020 14:40 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน - 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2563

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 78/63

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในวันที่ 29 - 30 มิ.ย. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ประกอบกับ มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาว และเวียดนามตอนบน ทำให้บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 1 - 5 ก.ค. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ลาว และเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น

คำเตือน บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับในช่วงวันที่ 30 มิ.ย. - 5 ก.ค. คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

วันที่ 29 มิ.ย. - 1 ก.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 2 - 5 ก.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

-ในช่วงฤดูฝนวัชพืชต่างๆจะเจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรควรกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกพืช เพื่อไม่ให้แย่งน้ำและธาตุอาหารสำหรับพืช ส่วนไม้ผลที่อยู่ในระยะผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยว เกษตรกรควรระวังสัตว์ศัตรูพืช เช่น ค้างคาว กระรอก ผีเสื้อมวนหวาน และแมลงวันผลไม้ เป็นต้น ซึ่งมากัดกินและดูดน้ำหวานจากผลไม้ทำให้ผลไม้เน่าเสียหาย ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ สำหรับฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 29 - 30 มิ.ย. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 1 - 5 ก.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ในช่วงที่มีฝนตก บางพื้นที่อาจมีน้ำท่วม เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคฉี่หนู โดยหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำที่สกปรก หากมีความจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูททุกครั้ง ส่วนชาวนาควรระวังและป้องกันการระบาดของหอยเชอรี่ โดยใช้ตาข่ายดักบริเวณทางน้ำไหลเข้านา และจับหอยไปทำลาย เพื่อป้องกันหอยดังกล่าวเข้ามาแพร่พันธุ์ในแปลงนาและกัดกินต้นข้าวในระยะต่อไป สำหรับในช่วงฤดูฝนศัตรูสัตว์ เช่น ยุง เหลือบ ริ้น และไร จะเจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้ศัตรูสัตว์มารบกวนสัตว์เลี้ยง เพราะจะทำให้สัตว์ชะงักการเจริญเติบโต และศัตรูสัตว์บางชนิดยังเป็นพาหะนำโรคมาสู่สัตว์เลี้ยง

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 29 - 30 มิ.ย. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 1 - 5 ก.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ฝนที่ตกในระยะนี้จะไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้มั่นคงแข็งแรง หลังคาไม่รั่วซึม แผงกำบังฝนสาดอยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ พื้นคอกไม่ชื้นแฉะ เพื่อป้องกันสัตว์เปียกชื้น

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ตะวันออก ในช่วงวันที่ 29 - 30 มิ.ย. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1- 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 1 - 5 ก.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ชาวสวนผลไม้ไม่ควรกองสุมเปลือกและผลที่เน่าเสียไว้ในบริเวณสวนแต่ควรนำไปกำจัดให้ถูกวิธีโดยเผาหรือฝังให้ลึก เพื่อเป็นการตัดวงจรชีวิตของโรคและศัตรูพืช สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูก เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคจากเชื้อราได้

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 29 - 30 มิ.ย. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 1 - 5 ก.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 29 - 30 มิ.ย. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1- 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 1 - 5 ก.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ระยะนี้เป็นช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ภาคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับลมจะมีปริมาณและการกระจายของฝนมากกว่าทางฝั่งตะวันออกกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งระวังป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราสีชมพู โรคหน้ากรีดยาง ในยางพาราเป็นต้น ส่วนทางฝั่งตะวันออกฝนที่ตกและหยุดตกสลับกันสภาพอากาศเหมาะแก่การระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืช ไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 22 - 28 มิถุนายน 2563 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยตลอดสัปดาห์ โดยมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคตะวันออกและภาคใต้ในวันที่ 23 มิ.ย. กับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาวและเวียดนามตอนบนในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยมีฝนเกือบตลอดสัปดาห์โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้มีฝนตกหนาแน่นเกือบตลอดสัปดาห์

ภาคเหนือ มีฝนร้อยละ 10-50 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในระยะกลางสัปดาห์มีฝนมากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดพะเยา ลำปาง และลำพูนในวันที่ 23 มิ.ย. และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดลำพูนในวันที่ 24 มิ.ย. บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 26 มิ.ย. บริเวณจังหวัดพะเยาและลำปางในวันที่ 27 มิ.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 10-50 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดหนองคายในวันที่ 27 มิ.ย. ภาคกลาง มีฝนร้อยละ 15-50 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่ง ภาคตะวันออก มีฝนมากกว่าร้อยละ 65 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 24 มิ.ย. มีฝนร้อยละ 15 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดฉะเชิงเทราในวันที่ 22 และ 25 มิ.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 23, 24 และ 27 มิ.ย. มีฝนร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดพัทลุงในวันที่ 25 มิ.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 23, 24 และ 27 มิ.ย. มีฝนร้อยละ 35-50 ของพื้นที่

สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดลำปาง สุราษฎร์ธานี และตรัง ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา อุบลราชธานี ชัยนาท ลพบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ราชบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง ภูเก็ต กระบี่ และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ