พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 24 - 30 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ข่าวทั่วไป Monday August 24, 2020 14:17 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 24 - 30 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2563

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 102/63

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 24 - 27 ส.ค. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ประกอบกับร่องมรสุมได้เลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมา และประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง ส่วนในช่วงวันที่ 28 - 30 ส.ค. 63 ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก คำเตือน ในช่วงวันที่ 28 - 30 ส.ค. 63 ภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จะมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากฝนตกหนัก และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 25 - 27 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 28 - 30 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • สำหรับพื้นที่ทางการเกษตรซึ่งถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมา เกษตรกรควรฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม และไม่ควรนำเครื่องจักรกลหนักเข้าในพื้นที่เพราะอาจส่งผลกระทบต่อรากพืชและเครื่องจักรอาจติดหล่มได้ ส่วนฝนที่ตกจะเป็นผลดีกับพืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต แต่ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจาก เชื้อรา ซึ่งมักระบาดในช่วงที่ดินและอากาศมีความชื้นสูง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 25 - 27 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 28 - 30 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ฝนที่ตกในระยะนี้อาจทำความชื้นในอากาศสูง ชาวนาควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคไหม้ในข้าวนาปี ซึ่งจะทำให้ต้นข้าวเสียหาย ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพได้ สำหรับในบางพื้นที่อาจมีน้ำท่วม เกษตรกรควรระวังและป้องการหอยเชอรี่ที่ลอยมากับน้ำ โดยใช้ตาข่ายดักบริเวณทางน้ำไหลเข้านาแล้วจับหอยดังกล่าวไปทำลายเพื่อป้องกันหอยเข้ามาในแปลงนาแล้วแพร่พันธุ์กัดกินต้นข้าวในระยะต่อไป ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพระจะทำให้สัตว์อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 24 - 27 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 28 - 30 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางด้านตะวันตกและตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูก เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร รวมทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์สูบน้ำเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรยกพื้นคอกสัตว์ให้สูง เตรียมที่สูงน้ำท่วมไม่ถึงเอาไว้สำหรับอพยพสัตว์เลี้ยง หากเกิดน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้นและเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 24 - 27 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 28 - 30 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคหน้ากรีดยาง และโรคใบยางร่วงลูกยางเน่าในยางพารา และควรทำทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูกพืช ไม่ควรปล่อยให้น้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตร และบริเวณโคนต้นพืชนานเพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศ ต้นพืชตายได้

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 24 - 27 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 28 - 30 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 24 - 27 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 28 - 30 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะผลแก่และเก็บเกี่ยว เกษตรกรไม่ควรกองสุมเปลือกผลไม้และผลที่ร่วงหล่นเน่าเสียกองอยู่ในบริเวณสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช แต่ควรนำไปกำจัดให้ถูกวิธีโดยเผาหรือฝังให้ลึก เพื่อเป็นการตัดวงจรชีวิตของโรคและศัตรูพืช
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 17 - 23 สิงหาคม 2563 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นร่องมรสุมดังกล่าวมีกำลังแรงขึ้นและได้เลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยตลอดสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนาแน่นตลอดสัปดาห์ โดยมีรายงานฝนหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้มีฝนส่วนมากทางฝั่งตะวันออกของภาค อนึ่ง พายุโซนร้อน "ฮีโกส (HIGOS, 2007)" ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีนตอนใต้ เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 19 ส.ค. จากนั้นได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันเมื่อเวลา 01.00 น. วันที่ 20 ส.ค. แล้วอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงและสลายตัวในเวลาต่อมา

ภาคเหนือมีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่ตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งส่วนมากในระยะครึ่งหลัง ของสัปดาห์ โดยมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดน่าน แพร่ เชียงใหม่ และพะเยาในวันที่ 21 ส.ค. บริเวณจังหวัดอุตรดิตถ์ ลำพูน และแม่ฮ่องสอนในวันที่ 22 ส.ค. และบริเวณจังหวัดสุโขทัยและตากในวันที่ 23 ส.ค. และมีรายงานดินถล่มบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในวันที่ 22 ส.ค. และบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 23 ส.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง ภาคกลางมีฝนร้อยละ 30-55 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 17, 18 และ 21 ส.ค. มีฝนมากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ ภาคตะวันออกมีฝนร้อยละ 20-55 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 20-22 ส.ค. มีฝนมากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งตลอดสัปดาห์ และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 19 และ 21 ส.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนร้อยละ 10-55 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 21 ส.ค. มีฝนร้อยละ 65 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 19 และ 23 ส.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 18 ส.ค. มีฝนร้อยละ 60 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งในระยะครึ่งแรกและวันสุดท้ายของสัปดาห์

สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดเชียงราย ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ หนองคาย อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สุราษฎร์ธานี และปัตตานี ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ตาก สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย หนองบัวลำภู มุกดาหาร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร นครสวรรค์ อุทัยธานี สิงห์บุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรปราการ นครนายก สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา นราธิวาส ระนอง และตรัง

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ