พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 16 - 22 กันยายน พ.ศ.2563

ข่าวทั่วไป Wednesday September 16, 2020 13:50 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 16 - 22 กันยายน พ.ศ.2563

ออกประกาศวันพุธที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2563

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 112/63

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 16-17 ก.ย. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนอง โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกและภาคใต้ สำหรับพายุระดับ 3 (พายุโซนร้อน) "โนอึล" บริเวณทะเลจีนใต้จะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุระดับ 5 (ไต้ฝุ่น) "โนอึล" และคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลาง แล้วเคลื่อนเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของประเทศไทย ในช่วงวันที่ 18-20 ก.ย. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทยมีกำลังแรง ส่งผลทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้นกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 3-5 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 21-22 ก.ย. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง

คำเตือนในช่วงวันที่ 18-21 ก.ย.63 เกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากลมแรง ฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรงดการเดินเรือในช่วงที่มีฝนฟ้าคะนอง ตลอดช่วง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 16-18 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในวันที่ 22 ก.ย. ทางตะวันตกของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 19-21 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นบริเวณกว้าง กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

  • ในช่วงวันที่ 19-21 ก.ย.จะมีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง กับมีฝนหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ โดยดูแลระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง เมื่อมีฝนตกหนัก สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ เช่น โค กระบือ และสุกร เป็นต้น ควรเตรียมพร้อมอพยพสัตว์เลี้ยงขึ้นที่สูง น้ำท่วมไม่ถึง กรณีเกิดน้ำท่วม

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 16-17 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 18-19 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นบริเวณกว้าง กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ และมีลมแรง ในช่วงวันที่ 20-22 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

  • ในช่วงวันที่ 18-19 ก.ย.จะมีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง กับมีฝนหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ และมีลมแรง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ โดยดูแลระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง เมื่อมีฝนตกหนัก สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรเตรียมพร้อมอพยพสัตว์เลี้ยงขึ้นที่สูง น้ำท่วมไม่ถึง กรณีเกิดน้ำท่วม

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 16-18 ก.ย. และ 22 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ในช่วงวันที่ 19-21 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • พื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูก เพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง เมื่อมีฝนตกหนัก ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง ควรระวังสภาพน้ำที่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากน้ำที่ไหลหลากลงมาจากพื้นที่เหนือน้ำ นอกจากนี้เกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทานควรเริ่มกักเก็บน้ำฝนเอาไว้ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางการเกษตรในช่วงแล้ง

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 16-17 และ 21-22 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 18-20 ก.ย. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

  • ในช่วงวันที่ 18-20 ก.ย.จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ รวมทั้งระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคหน้ากรีดยางในยางพารา เป็นต้นอนึ่ง ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ โดยหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 17-20 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 21-22 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในช่วงวันที่ 18-20 ก.ย. อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 16-17 ก.ย. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 18-22 ก.ย. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 3-5 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

  • ในช่วงวันที่ 18-20 ก.ย. มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ส่วนมากทางฝั่งตะวันตกของภาค เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ โดยดูแลระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง เมื่อมีฝนตกหนัก นอกจากนี้เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร พืชสวน ไมผล และพืชผักต่างๆ โดยเฉพาะโรครากเน่าและและโคนเน่าในไมผล และโรคหน้ากรีดยางในยางพารา เป็นต้น นอกจากนี้ชาวสวนมะพร้าว ควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกด้วงแรดมะพร้าว และด้วงวงมะพร้าว เข้าทำลายไว้ด้วย

อนึ่ง บริเวณทะเลอันดามัน ในช่วงวันที่ 18-22 ก.ย. จะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กงดออกจากฝั่งในช่วงดังกล่าว

ลักษณะอากาศในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 9-15 กันยายน 2563 มีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ บุรีรัมย์ ชลบุรี ระยอง นราธิวาส และพังงา ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร หนองคาย อุดรธานี สกลนคร นครพนม มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ อุทัยธานี ลพบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี นครนายก สระแก้ว จันทบุรี ตราด ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ระนอง ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ